ผู้สมัครงาน
ขณะที่เมืองไทยกำลังถูกปลุกปั้นให้เป็นเมืองจักรยานแห่งใหม่ การันตีด้วยการจัดการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์เอเชีย "Night Championships" ครั้งแรกของโลก ณ ใจกลางเมืองโคราช เมื่อวันที่ 10-11 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมา แต่ไม่กี่วันมานี้กลับพบข่าวน่าสลดเกี่ยวกับนักปั่นจักรยานชาวชิลี ที่ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดายในขณะทำภารกิจปั่นจักรยาน 5 ทวีป ภายใน 5 ปี ระยะทาง 250,000 กม. เพื่อสร้างสถิติใหม่ลงในกินเนสส์ เวิลด์เรคคอร์ด
เหตุการณ์นี้สะท้อนความไม่พร้อมของการเป็นเมืองจักรยานของประเทศไทยหรือเปล่า? วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้สืบเสาะหาคำตอบและข้อคิดเห็นจากคนดังที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนักปั่นเมืองไทย มาไขข้อข้องใจในประเด็นนี้กัน
เริ่มจาก สุหฤท สยามวาลา นักร้อง นักดนตรี นักจัดรายการวิทยุ ผู้บริหาร และยังเป็นหนึ่งในนักปั่นที่ปั่นจักรยานไปทำงานทุกวัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์การเสียชีวิตของนักปั่นระดับโลกว่า แม้ว่าอุบัติเหตุจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่อยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักว่าจักรยานก็เป็นอีกหนึ่งพาหนะที่อยู่ร่วมบนถนน ไม่ว่าจะไหล่ทางหรือส่วนไหนของถนน ก็ควรให้พื้นที่ในการขับขี่สำหรับจักรยานด้วย นอกจากจะระแวดระวังผู้ที่ขับรถยนต์แล้ว อยากให้ระแวดระวังผู้ที่ขับขี่จักรยานด้วยเช่นกัน
ปั่นในที่มืดๆ ต้องระวังเป็นพิเศษ
"คนส่วนใหญ่มักจะคิดกันว่า เวลาขับรถยนต์ต้องระวังมอเตอร์ไซค์ เวลาเปิดประตูออกไปต้องระวังมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่เคยคิดที่จะระวังจักรยาน เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ในใจเขาว่าจะต้องระวัง แต่อยากบอกว่าตอนนี้ประเทศไทยมีจักรยานที่อยู่บนถนนร่วมกับคุณ ขอให้ระวังกันนิดนึง เพราะว่าถ้าประมาทไปนิดเดียว ก็สามารถทำให้คนอื่นเสียชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ หรือว่ารถยนต์ด้วยกัน
ประเด็นที่อึดอัดก็คือว่า อยากให้ช่วยรับรู้หน่อยเถอะว่าจักรยานมันก็เป็นหนึ่งพาหนะที่คนหันมาใช้กันเยอะแล้วนะ เราเห็นคนออกมาปั่นเยอะแยะมากมาย ก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันบนท้องถนน คนปั่นจักรยานเองก็อย่ากร่างว่าคนอื่นต้องให้ทางเราเสมอ ต้องระมัดระวังซึ่งกันและกัน มันถึงจะอยู่ร่วมกันได้"
ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ครั้งนี้เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีนักปั่นจักรยานจากต่างประเทศอีกหลายคน ที่ต้องมาจบชีวิตลงที่ท้องถนนของเมืองไทย จนเกิดการตั้งคำถามจากสังคมในวงกว้างว่า...หรือเมืองไทยจะกลายเป็นเหมือนเมืองที่ฆ่านักปั่นไปโดยปริยาย? ประเด็นนี้ สุหฤท แสดงความเห็นว่า บางทีก็รู้สึกว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในเมืองไทย แต่จะไปโทษว่านักปั่นมาเสียชีวิตเพราะประเทศไทย ก็อาจจะมากไปหน่อย
"มันก็อดคิดไม่ได้ เพราะมันเคยเกิดมาแล้ว เคยมีนักปั่นเป็นรุ่นพี่ไปปั่นหลายร้อยกิโล ก็เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คือประเด็นหลักๆ อยากให้ระวังกันหน่อยได้ไหม อย่าให้เมืองไทยต้องเป็นเมืองที่ฆ่านักปั่นจักรยานเลย เดี๋ยวจะไม่มีใครกล้าปั่นจักรยาน มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องระมัดระวังกันให้จริงจัง ควรมีการรณรงค์ว่าจักรยานก็เป็นอีกหนึ่งพาหนะหนึ่งที่คุณต้องให้ทาง และเพิ่มความระมัดระวังบนท้องถนน ช่วยกันหน่อย มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องขยับ ไม่ใช่ปล่อยไว้อย่างนี้ มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไข"
ข้ามถนน ก็ต้องระวังรถยนต์
ผู้บริหารนักปั่นคนนี้บอกอีกว่า หากจะแก้ปัญหาตรงนี้ให้ดีขึ้น เรื่องเลนสำหรับจักรยานก็มีส่วน เพราะปัจจุบันนี้เลนจักรยานแม้จะมีอยู่ แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่น่าพอใจ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะว่าคนไทยยังไม่ใช้จักรยานกันมากมายอย่างเมืองนอก แต่ว่า 2-3 ปีที่แล้วกับปัจจุบันมันก็ดีกว่าเยอะ ในแง่ที่ว่าจากเมื่อก่อนคนปั่นจักรยานต้องโบกไม้โบกมือขอทางเวลาจะเลี้ยวหรือจะปั่นข้ามถนน แต่วันนี้ก็เห็นรถหยุดให้จักรยานมากขึ้น
แต่หากถามว่ามันพอหรือยัง มันยังไม่มีทางพอ ต้องปรับไปเรื่อยๆ และผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรระวังให้มากขึ้น ตัวเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ยังคงปั่นจักรยานอยู่เหมือนเดิม แต่ต้องระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ และยังฝากไปถึงนักปั่นด้วยกันว่า ควรระมัดระวังมากขึ้น คอยสังเกตรอบตัวให้ดีๆ อย่าปั่นไปขวางทางมาก ส่วนคนขับรถยนต์ก็ควรขับรถระมัดระวังจักรยานด้วย อยากให้ทุกคนใช้ถนนร่วมกันอย่างปกติสุข
ส่วนนักปั่นสาว นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Bicycle Campaignบอกว่า เรื่องนี้ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องถูกตรวจสอบให้เข้มงวดกว่านี้ เช่น ดูใบขับขี่ ดูความประพฤติของผู้ขับขี่ และอยากให้มีการเอาผิดกับผู้ขับขี่รถยนต์โดยประมาทให้มากกว่านี้ หากขับขี่ประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตก็ไม่ควรมีสิทธิ์ขับรถยนต์ไปตลอดชีวิต หรือหากเป็นพื้นที่ในเมืองใหญ่ ก็ควรออกกฎให้มีการจำกัดความเร็วที่ 30 กม.ต่อชั่วโมง เป็นต้น
นอกจากนี้ การเอื้อเฟื้อผิวถนนให้กันและกัน หรือที่เรียกว่า share road ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ขับขี่รถทุกชนิดควรหันมาตระหนักรู้ร่วมกัน
"ถ้าคนที่ปั่นเก่งแล้ว การแชร์ถนนกับรถอื่นๆ ก็เหลือเฟือแล้ว ใช้ทางร่วมกันโดยขับเว้นระยะห่าง 1 เมตร อะไรแบบนี้ แต่สำหรับกลุ่มที่เพิ่งเริ่มปั่น อย่างนั้นก็ต้องมีเลนจักรยานเพื่อความปลอดภัย ถ้าในกรุงเทพฯ ทำเลนให้จักรยานได้เต็มทุกพื้นที่ก็จะดีมาก ถ้าในต่างจังหวัดแนะนำว่าควรทำไหล่ทางกว้างๆ หน่อย"
ทุกคนต้องแชร์ถนนร่วมกัน ไม่ว่าจะขับขี่ยานพาหนะประเภทใดก็ตาม
ส่วนมุมมองที่บอกว่าเมืองไทยเป็นเหมือนเมืองที่อันตรายต่อชีวิตสำหรับนักปั่น ตรงนี้ นนลนีย์ มองว่า ไม่ได้รู้สึกว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่ฆ่านักปั่น แต่รู้สึกว่ากฎหมายไทยอ่อนไป อยากให้กฎหมายเอาผิดคนที่ขับรถโดยประมาทเข้มงวดมากกว่านี้ เพราะคนปั่นจักรยานจะปั่นชิดซ้ายอยู่แล้ว หรือปั่นตรงไหล่ทาง เพราะฉะนั้นถ้าคนใช้รถใช้ถนนมีความระมัดระวังที่มากพออุบัติเหตุก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ปิดท้ายกันที่นักปั่นคนดังอีกคนอย่าง ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day เขาบอกว่า เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด และในทิศทางเดียวกันกับคนอื่นๆ เขามองว่าเรื่องนี้หลักใหญ่ใจความมาจากความประมาทของผู้ขับขี่เป็นเหตุ
"ถามว่าบ้านเมืองไทยมันอันตรายกว่าต่างประเทศหรือเปล่า ผมว่ามันก็ชี้ชัดลงไปได้ยาก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันคงจะสรุปยากว่า บ้านเมืองเราเป็นดินแดนอันตรายสำหรับนักปั่น เพราะมันเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราน่าจะขับรถบนท้องถนนกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น สมมติว่าถ้าเปลี่ยนจากจักรยานเป็นมอเตอร์ไซค์หรือเป็นคนเดินถนน ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผมว่ามันก็เสียหายเหมือนกันอยู่ดี"
ทรงกลดย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สร้างอุทาหรณ์ให้กับคนใช้รถใช้ถนนทุกคน ว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณอยู่หลังพวงมาลัยแล้วคุณไม่ได้รับผิดชอบเฉพาะแค่ชีวิตคุณ แต่ยังมีชีวิตของเพื่อนร่วมถนนอีกมากมายที่ต้องรับผิดชอบด้วยเหมือนกัน ก็ต้องขับรถอย่างมีสติ ยกตัวอย่างการปั่นจักรยานของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบยุโรป ผู้คนก็ปั่นจักรยานแบบใช้ถนนร่วมกันได้ โดยมีอุบัติเหตุน้อยมาก อย่างญี่ปุ่นไม่ได้มีไหล่ทางเหมือนในบ้านเราด้วยซ้ำ
จักรยาน พาหนะสำคัญของคนยุคใหม่
ฉะนั้น ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนควรหันมาเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ว่า ต่อไปในการขับขี่ต้องมีสติ ไม่ประมาท แต่ละครั้งที่ขับขี่รถต้องฉุกคิดว่าเราต้องรับผิดชอบตัวเองและเพื่อนร่วมทาง สร้างให้เป็นนิสัยไม่ใช่มาระมัดระวังกันแค่ช่วง 7 วันอันตรายหรือช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น
แต่ทุกๆ วัน ทุกๆ นาที ที่อยู่หลังพวงมาลัย อยู่บนอานมอเตอร์ไซค์ หรืออานจักรยาน ก็ต้องขับขี่อย่างมีสติ และปฏิบัติตามกฎจราจร และระมัดระวัง ชีวิตทุกชีวิตที่อยู่บนถนนร่วมกับเรา
ขอบคุณภาพจาก active.com, brit.co, thekidsalooker.tumblr.com, thesartorialist.blogspot.com, adventure-journal.com, baghdadinvest.com, farm1.staticflickr.com
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved