ผู้สมัครงาน
หากเอ่ยถึงตลาดน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีและคงจะได้ท่องเที่ยวสัมผัสถึงบรรยากาศการค้าขายสินค้าชนิดต่างๆ ริมน้ำกันอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งวันนี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" จะมาแนะนำตลาดน้ำที่ก่อตั้งขึ้นมาเพราะความสำนึกรักในบ้านเกิด ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในเขตชุมชน ต.คลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา เชื่อมต่อกับ ต.รามแก้ว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ตรงบริเวณทางแยกของลำคลองสามสายที่ไหลมาบรรจบกัน คือ คลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่สำหรับผู้ที่หันหลังให้กับเมืองหลวงที่แสนจะวุ่นวายและค่อยๆ ที่จะก้าวเดินหน้าให้กับความเรียบง่ายของชีวิต
บรรยากาศยามค่ำคืนคลองแดน
ในทุกๆ วันเสาร์ตลาดน้ำคลองแดนคือแลนมาร์กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเป็นจำนวนมาก ให้เดินทางเข้ามาชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง และทำการเลือกซื้อเลือกรับประทานอาหารของชาวตลาดน้ำคลองแดนกันอย่างคึกคัก สร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง คณะกำหนดการเรียนรู้สัญจรผู้นำเเห่งอนาคต ได้เดินทางมาตลาดน้ำแห่งนี้เป็นเวลาสองวัน วันแรกเรามาถึงกันช่วงเย็นและได้เดินทางไปสังเกตการณ์ตลาดน้ำคลองแดนพร้อมๆ กับบรรยากาศสายลมเย็นในช่วงพลบค่ำ ฟ้าสลัวสะท้อนน้ำในคลองที่อยู่เบื้องหน้า ฝูงนกต่างพากันทยอยกันบินกลับรัง ขณะที่สองฝั่งคลองมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศต่างเดินจับจ่ายซื้อของกันอย่างเมามันท่ามกลางเสียงดนตรีพื้นเมืองที่บรรเลงอย่างไม่หยุดหย่อน
คลองแดน ได้รับการขนานนามว่า เป็น "สามคลองสองจังหวัด" เป็นจุดนัดพบของสายน้ำที่ไหลรวมกัน
ต่อมา "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ได้ตั้งวงเสวนาในบ้านร้อยปีศรีคลองเเดน ภายใต้หัวข้อ "ชุมชนคลองแดนเข้มแข็งตรงไหน อนาคตจะเป็นอย่างไร" กับ "ปู่ชาย สมเกียรติ หนูเนียม" หนึ่งในพลังชุมชนคลองแดน ที่ยังมีแนวคิดอนุรักษ์ความเป็นคลองแดนไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดเจตนารมณ์ต่อจากบรรพบุรุษ 'เสน่ห์ของคลองแดนเกิดจากบรรพบุรุษที่ปลูกฝังมา เราเดินตามแนวทางบรรพบุรุษของเรา และเราอยากจะรักษาคลองแดนให้เป็นคลองแดนตลอดไป' ส่วนสาเหตุที่อาจจะเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ชุมชนไม่เป็นไปตามแนวทางที่บรรพบุรุษได้วางไว้ ก็คือการยื่นมือให้ความช่วยเหลือจากนักการเมืองท้องถิ่น เรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่มีนโยบายแตกต่างจากแผนพัฒนาที่คนในชุมชนใช้ เช่น ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่เปิดตลาดน้ำเป็นสองวัน คือ เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งตรงนี้ บางท่านยังไม่รู้ว่าเศษขยะในถังที่ทุกคนทิ้งกัน ทางชุมชนเป็นคนจัดการกันเองทั้งหมด แม่ค้าที่มาขายของต้องขนขยะกลับบ้านเพื่อไปกำจัดกันเอง กระทั่งเรื่องน้ำประปาที่ไหลบ้างไม่ไหลบ้าง บางทีสามวันไหลครั้งนึง ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ขอให้มาช่วยเหลือให้ตรงจุด 'ผมกินแต่แกงส้ม แกงไตปลา แต่คุณเอาสเต๊กมาให้ผมกิน ถามว่า แล้วผมจะกินได้ยังไง...' และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ คนในพื้นที่เองที่ยังขาดจิตใต้สำนึก ซึ่งร่ำรวยขึ้นมาแล้วแต่หวังจะมากอบโกยจากคลองแดน ก็ยังมี ซึ่งผมคิดว่าปัญหาใหญ่มีอยู่สองอย่าง ปู่ชาย กล่าว
''ปู่ชาย สมเกียรติ หนูเนียม" หนึ่งในพลังชุมชนคลองเเดน ที่ยังมีเเนวคิดอนุรักษ์ความเป็นคลองเเดนไว้ไม่ให้เปลี่ยนเเปลงไปตามสมัยนิยม
หลังจากนั้น "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ได้มีโอกาสไปวัดคลองแดน ซึ่งเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง พระครูรัตนสุตากร เจ้าอาวาสฯ ได้พาเราเยี่ยมชมวัดและเล่าถึงความเก่าแก่ของพระพุทธรูปทองคำ ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของชาวคลองแดน ซึ่งเดิมทีองค์พระถูกเคลือบพรางด้วยสีดำทาปากแดง ประดิษฐานในกุฏิเก่ามาเป็นระยะเวลานาน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2545 ได้มีการปรับรื้อกุฏิ พบว่าองค์พระมีน้ำหนักมากต้องช่วยกันยกหลายคนจึงจะเคลื่อนย้ายได้ และเมื่อช่วยกันขัดทำความสะอาดก็ปรากฏเป็นองค์พระเนื้อทอง ซึ่งมีลักษณะงดงามมาก จึงเป็นที่มาของการจัดสร้างกุฏิใหม่ให้เหมาะสมกับการประดิษฐานองค์พระทอง และเปิดให้ประชาชนได้เข้าสักการะสืบต่อมา
องค์พระทอง เป็นที่เลื่อมใสของชาวคลองแดน มีลักษณะของพุทธศิลป์ที่สวยงามมาก และเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวของไทยที่สร้างด้วยทองคำทั้งองค์
ด้าน พระครูรัตนสุตากร เปิดเผยว่า ชุมชนเห่งนี้ ใช้หลักการบริหารจัดการที่เรียกว่า "วัชระ" มีความหมายว่า "วัด ชุมชน โรงเรียน" โดยเริ่มจากวัด จากนั้นได้ดึงชุมชนเข้าร่วมก่อนจะขยายแนวคิดไปยังรั้วสถานศึกษา โดยนำหลักทางศาสนาเข้ามาเชื่อมโยง อาศัยความเป็นชุมชนวิธีพุทธ โดยให้ภายในพื้นที่มีการปลอดแอลกอฮอล์เพื่อเป็นเกราะป้องกันชุมชน สานความร่วมมือให้ชุมชนเข้มแข็งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจากจุดเริ่มต้นจากวัดคลองแดนที่ฟื้นฟูวัดที่มีสภาพทรุดโทรม ได้กลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ทำให้ชุมชนริมฝั่ง 3 คลอง2 เมือง กลับมาคึกคักอีกหน โดยการฟื้นคืนชีพของตลาดคลองแดนบ้านไม้ทรงไทยเก่าๆ ริมน้ำถูกบูรณะจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำให้ผู้คนที่สัญจรผ่านเมืองใต้มุ่งตรงมายังชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในอดีตตลาดน้ำแห่งนี้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ผลอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะการตัดผ่านของถนนหมายเลข 408 เมื่อปี 2516 การคมนาคมทางน้ำก็ลดความสำคัญลงไป ทำให้คลองแดนเงียบเหงามานานเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปีเต็ม ตลาดน้ำคลองแดนเกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจในการช่วยกันฟื้นฟูชุมชน เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงในวิถีชีวิตผู้คนในอดีต ที่ไม่ได้ถูกแบ่งแยกโดยหลักเขตแดนของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ทำให้คลองแดนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นชุมชนที่มีความเข้มเเข็งและสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของชาวชุมชนที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของผู้คนที่เคยมีมาแต่อดีต การฟื้นฟูตลาดน้ำคลองแดนจึงไม่ต้องการวางเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว เพียงแต่เชื่อว่าการกระทำในปัจจุบันจะเป็นตัวชี้วัดว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร
สะพานไม้ริมน้ำตลอดเเนวทางเดินที่ชาวชุมชนคลองเเดนช่วยกันสร้าง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
คลองแดน ถือเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ชุมชน ที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูชุมชนภายหลังจากการขยายตัวของเมือง ที่ได้เปลี่ยนแปลง รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นการฟื้นฟูชุมชนที่เเสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนของทั้งสองจังหวัดที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติและเป็นครอบครัวเดียวกันมาตั้งแต่ในอดีต ได้เห็นถึงการร่วมไม้ร่วมมือกันเสนอแนวคิดของชาวชุมชนในการจัดการด้านเศรษฐกิจของตลาดคลองแดนเอง เพื่อจะให้ชาวชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในวิถีของการพัฒนาของระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันที่เข้าแทรกแซงทุกพื้นที่ แต่แล้วปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชุมชนในท้ายที่สุดเเล้ว คือต้องเผชิญกับการพัฒนาทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ชาวคลองแดน จะสามารถหาวิธีปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดและดำรงอยู่บนเส้นทางการพัฒนานี้อย่างไร และนี่คือบททดสอบครั้งสำคัญของชาวชุมชน!.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved