อาถรรพณ์ได้รับมากจะไม่ได้แต่งงาน? ตามหาประวัติศาสตร์ความลี้ลับ 'ช่อบูเก้'

  • 11 พ.ค. 2563
  • 3661
หางาน,สมัครงาน,งาน,อาถรรพณ์ได้รับมากจะไม่ได้แต่งงาน? ตามหาประวัติศาสตร์ความลี้ลับ 'ช่อบูเก้'

หลังจากข่าวฮือฮาในงานแต่งงานของ กระแต ศุภักษร กับ หลุยส์ อาทิตย์ เรืองสมบูรณ์ที่ผ่านมา ว่า เมย์ พิชญ์นาฏ สาขากร ดาราสาวสวยได้รับช่อดอกไม้ในงานแต่งงาน จำนวน 18 ครั้ง ‘เมย์’ นักล่า 'ดอกไม้เจ้าสาว' แต่ยังไม่ได้แต่งงาน ทั้งๆ ที่มีความเชื่อมาช้านานว่า ใครที่ได้รับช่อดอกไม้ในงานแต่งงาน จะมีโอกาสได้รับข่าวดี แต่นี่ตั้ง 18 ครั้ง กลับไม่มีข่าวดีเกิดขึ้นแต่อย่างใด  

คำถามที่เกิดขึ้นนอกจาก 'การโยนดอกไม้' หรือ 'โยนช่อบูเก้' ในงานแต่งงานแล้ว มีบรรดาสาวๆ มารอรับไป ซึ่งกลายเป็นภาพเจนตาของสังคมไทยมีที่มาอย่างไร เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด ช่อดอกไม้ที่เราเห็นสวยงามนั้น เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรหรือไม่ และประเทศไทยนำวัฒนธรรมการโยนช่อดอกไม้นี้มาตั้งแต่เมื่อไรแล้ว ยังมาถอดรหัสความเชื่อที่หลายคนสงสัยว่า หากได้รับช่อบูเก้ในงานแต่งงานมากกว่า 1 ครั้ง จะเป็นอาถรรพณ์ไม่ได้แต่งงานจริงหรือไม่ ไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ?  

กำเนิดการโยนช่อดอกไม้

อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จากการค้นคว้าระบุว่าในสมัยโบราณเลย ก่อนกรีก ก่อนโรมัน ยังไม่มีประเพณีในการโยนช่อดอกไม้ แต่จะมีประเพณี 'ถือดอกไม้' แต่ใช้พวกกระเทียม พวกเครื่องเทศ สมุนไพร ซึ่งสมัยนั้นของเหล่านี้ถือว่าเป็นพวกนี้มีกลิ่นแรงๆ ทำให้พวกปีศาจ วิญญาณร้าย ไม่เข้าใกล้เจ้าบ่าวหรือเจ้าสาว เหมือนกับขับไล่สิ่งชั่วร้าย เพราะคนกำลังจะแต่งงานเป็นเรื่องของการกำเนิดชีวิตใหม่ จึงใช้กลิ่นของเครื่องเทศเหล่านี้ไล่ผีร้าย

พอมาสมัยกรีก โรมัน ประเพณีมันก็เปลี่ยน ซึ่งคงเป็นคนละกลุ่มวัฒนธรรมกัน โดยขณะนั้นไม่มีประเพณีในการถือช่อดอกไม้ แต่ว่าเขาจะใช้ 'มงกุฎใบไม้' ที่ทำจากใบมะกอกสวมไว้ที่ศีรษะ เพราะว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิต หรือการเกิดชีวิตใหม่ ใบมะกอก หมายถึง ต้นไม้เทพเจ้า เป็นสัญลักษณ์การเกิดใหม่ ความหวัง ความอุดมสมบูรณ์ พอมาในกลุ่มวัฒนธรรมของเซลติค (ช่วงเวลาเดียวกัน) เขาก็ใช้ 'มงกุฎใบไม้' แต่มันมีการเพิ่มดอกไม้บางส่วนเข้าไปบ้าง ซึ่งในมงกุฎใบไม้จะมีเครื่องเทศอยู่ด้วย เพราะเขาถือว่ากลิ่นที่มันออกมาจากเครื่องเทศ มันมีพลังวิเศษไล่สิ่งชั่วร้ายได้

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ บอกว่า พอมาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 มันก็เข้าสู่ช่วงยุคกลาง ซึ่งไม่รู้กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่แน่ชัด แต่พอมาคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในยุโรป เริ่มเกิดประเพณีอย่างหนึ่ง มันเชื่อว่าถ้าได้ชิ้นส่วน หรืออะไรของชุดเจ้าสาวไป จะโชคดี มีโอกาสได้แต่งงาน และนอกจากชุดเจ้าสาวแล้ว ยังมีชิ้นส่วนสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่อยู่ในชุดเจ้าสาวด้วย ที่มันเป็นสายที่มันรัดที่โคนขาที่เวลาเขาใส่ถุงน่องอ่ะ หรือเรียกว่า สาย Garter เขาถือกันว่ามันอยู่ใกล้อวัยวะเพศ มันก็จะเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิด ทุกคนก็เลยอยากได้ วันแต่งงานก็เลยเกิดการแย่งชุดเจ้าสาวกันเต็มไปหมด

"ประเพณีนี้ มันก็ทำได้อยู่สักพักหนึ่ง คนก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดีไม่ให้เจ้าสาวบอบช้ำ ก็เลยเปลี่ยนว่า เอาชิ้นส่วนเสื้อผ้าเนี่ย มาไว้ที่บนมงกุฎดอกไม้ก่อน แล้วใช้วิธีการโยนไปให้เลย พอมันโยนไป ตัวมงกุฎมันก็หายไป มันก็ดูไม่สวย ก็เริ่มเกิดการคิดว่าใช้ตัวบูเก้หรือช่อดอกไม้ ซึ่งก็มีสายเหมือนโบว์เป็นสายแทนชุดเสื้อผ้าของเจ้าสาว เลยเป็นสัญลักษณ์แทน และก็เริ่มเกิดประเพณีการโยนช่อดอกไม้ แต่ก็ยังไม่ใช่ดอกไม้ทั้งหมดยังมีเครื่องเทศอยู่เหมือนเดิม ซึ่งประเพณีที่ว่ามาใช้ดอกไม้ 100% นั้น ในข้อมูลบอกว่าเกิดขึ้นในสมัยที่ 'ควีน วิคตอเรีย' ราชินีจากประเทศอังกฤษ ซึ่งได้อภิเษกกับ 'เจ้าชายอัลเบิร์ต' ราวๆ สมัยศตวรรษที่ 19"

จุดเปลี่ยนช่อดอกไม้

แต่เนื่องจาก 'ควีน วิคตอเรีย' ไม่ปลื้มสมุนไพรที่มีอยู่ จึงเปลี่ยนใช้เป็นดอกไม้สดแทน...! ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ อธิบายว่า ในช่วงเวลานั้นความนิยมอย่างหนึ่งเรื่องของดอกไม้ เขาจะเชื่อกันว่า ดอกไม้เป็นเรื่องของภาษา เช่น ดอกกุหลาบเป็นตัวแทนของความรัก ฉะนั้น ประเพณีถือช่อดอกไม้เข้าโบสถ์มันเริ่มในสมัยนี้

"แต่ไม่มีใครรู้ชัดเจนเป๊ะๆ หรือระบุในประวัติศาสตร์ว่า ประเพณีในการโยนดอกไม้ หรือโยนช่อบูเก้ เริ่มขัดๆ เมื่อไร 'ควีน วิคตอเรีย' ไม่ได้ระบุชัดว่าโยน ซึ่งอาจจะโยนหรือไม่ แต่น่าจะมาในช่วงนี้ ซึ่งคนที่โยนอาจจะเป็นประเพณีทั่วๆ ไป ที่มันปฏิบัติกันอยู่แล้ว จึงมาผสมกันๆ ระหว่างช่อดอกไม้กับประเพณีการโยน สุดท้ายก็กลายมาเป็นประเพณีการโยน และการโยนก็จะมีความหมายที่ว่า คุณจะได้รับความโชคดีไป เพราะดอกไม้เดิมมันเป็นของขับไล่พวกผีปีศาจ ของที่เป็นเครื่องลาง หรือของที่มีโชค พอคุณได้รับไปก็จะโชคดี และอาจจะได้รับโอกาสแต่งงานด้วย"

โยนช่อดอกไม้เมืองไทยและอาถรรพณ์?

ทั้งนี้ พิธีช่อดอกไม้ที่เป็นกิจจะลักษณะที่สวยและมีความหมายดี คาดว่าไม่น่าจะเก่าเกินคริสต์ศตวรรษที่ 17 - 19 และประเพณีการโยน มันเริ่มต้นในอังกฤษ ฉะนั้น ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 พอเราเริ่มรับวัฒนธรรมแบบนี้เข้ามา พอช่วงหลังๆ เกิดการแต่งงานที่ดูทันสมัย ก็รับแบบนี้เข้ามา 

"คาดว่าประเพณีการโยนช่อดอกไม้ หรือโยนช่อบูเก้มา หลัง พ.ศ.2475 หรืออาจจะอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.2500 หลังจากที่รับวัฒนธรรมตะวันตกมาอย่างเต็มที่"

เมื่อถามว่า ตามประวัติศาสตร์ หรือความเชื่อท้องถิ่น มีชุดความเชื่อที่ว่าหญิงสาวที่ไปร่วมงาน และได้รับ 'ช่อบูเก้' จากการโยนมากกว่า 1 ช่อ จะเป็นอาถรรพณ์จะไม่ได้แต่งงาน หรือเป็นเพื่อนเจ้าสาวมากๆ จะไม่ได้แต่งงาน

"ไม่ได้มีระบุเอาไว้อย่างชัดเจน แต่อาจจะเป็นความเชื่อเชิงรายละเอียดก็เป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ก็ยากจะคาดเดา แต่ในภาพรวมๆ เขามองว่า การได้รับช่อบูเก้เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี ปัจจุบันก็มีพัฒนาจากการโยนช่อเดียวเป็น 2 ช่อ ซึ่งกลายเป็นเซอร์ไพรส์ให้คนในงาน แต่รวมๆ แล้ว ช่อบูเก้คือตัวแทนของความโชคดี" นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง กล่าวสรุป

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top