ผู้สมัครงาน
ยามสาย บรรยากาศสบายๆ... ในวันหลังจาก “ซัมซุง” บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ได้ฤกษ์เปิดตัว ซัมซุงรุ่นใหม่ ถึง 2 รุ่น คือ กาแลคซี่ เอส 6 ( Galaxy S6) และ กาแลคซี่ เอส 6 เอดจ์ ( Galaxy S6 Edge) อวดโฉมสู่สายตาชาวโลกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน
“วิชัย พรพระตั้ง” รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัทไทยซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ได้ปลีกเวลามานั่งให้สัมภาษณ์กับ ‘ไทยรัฐออนไลน์’ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แสดงให้เห็นถึงความโล่งอก กับการเปิดตัวซัมซุง ทั้ง 2 รุ่น โดยเฉพาะรุ่น ‘กาแลคซี่ เอส 6 เอดจ์’ ที่โดดเด่นด้วยดีไซน์ ขอบสองข้างโค้งมน รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุระดับพรีเมียม จนเป็นสมาร์ทโฟนที่มีความสวยงาม ดูหรูหรา จนหลายคนอยากมีไว้ในครอบครอง
ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดสมาร์ทโฟน ที่สู้กันดุเดือด แน่นอน ในฐานะรองประธานขององค์กรยักษ์ใหญ่ที่ควบคุมดูแลธุรกิจโทรคมและไอทีในประเทศไทย ที่นับวัน คนไทยยิ่งติดมือถือสมาร์ทโฟน ติดโลกออนไลน์กันงอมแงม ทำให้ วิชัย พรพระตั้ง มี ‘การบ้าน’ วนเวียนอยู่ในหัวของเขาแทบตลอดเวลา เพราะต้องคอยคิดตอบโจทย์ ทำอย่างไร ซัมซุง จึงจะสามารถรักษาแชมป์ ในการเป็น ‘เจ้า’ ตลาดสมาร์ทโฟนอันดับหนึ่งของเมืองไทยไว้ได้ต่อไป ?
วิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กรธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัทไทยซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์
*“Next is Now” เราอยู่ที่นี่เพื่อให้นวัตกรรมก้าวไปข้างหน้า
เป็นสิ่งที่วิชัย กล่าวถึงเป้าหมายของซัมซุง พร้อมยกคำพูดของ ‘เจ เค ซิน’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และไอทีของซัมซุง ที่กล่าวว่า ‘ดีเอ็นเอ’ ของซัมซุง คือ เราอยู่ที่นี่เพื่อให้นวัตกรรมไปข้างหน้า พร้อมกับกล่าวถึง ซัมซุง กาแลคซี่ เอส 6 ทั้งสองรุ่น ที่เพิ่งเปิดตัวไปว่า “เรา ‘เทคเดอะชาเลนจ์’ เราทำในสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะ เราพยายามจะทำให้เทคโนโลยี หรือ นวัตกรรม ‘Next is Now’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ ผมคงพูดได้ว่า ทีมงานของซัมซุง ในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนเอา ‘ที่สุดของชีวิตใส่ลงไปอยู่แล้ว’ ทุกคนพยายามจะ ‘เบรก’ หรือสลายความเป็นไม่ได้ทุกอย่างให้มันเกิดขึ้นจริงให้ได้ ”
* ตอบโจทย์ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
เมื่อถามว่าการที่ซัมซุง เปิดตัว กาแลคซี่ เอส 6 ทั้งสองรุ่น ถือเป็นการสกัดคู่แข่งหรือไม่? โดยวิชัย พรพระตั้ง ตอบว่า ‘ผมเชื่อว่า การแข่งขันสนุกขึ้นแน่นอน เดือดชัวร์ งานนี้ สนุก ผมชอบนะ ทำให้คิดว่าตัวต่อไปจะเป็นอย่างไร มองในแง่ มือถือซัมซุงกระแทกทุกอย่างในตลาดมาตลอดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พยายามให้ดีไวซ์มันง่ายขึ้น วันนี้ซัมซุง มองว่า ‘เทคโนโลยี พอสซิเบิล’ (เทคโนโลยีมีความเป็นไปได้)’
ขณะเดียวกัน ‘การใส่เทคโนโลยีลงไปบนสมาร์ทโฟนขนาดนี้ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของซัมซุง คือ การจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘วาย เจนเนอเรชั่น’ (Y Generation ) บ้านเรามี ‘วายเจน’ การตอบโจทย์ว่า พวกเขาเหล่านี้ ต้องการอะไร คนรุ่นใหม่มีลักษณะเป็นกลุ่มยูนิค (Unique) มีความสำเร็จเร็วมาก เด็กพวกนี้เข้าใจเทคโนฯ สามารถ ‘เมค ยูส’ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่เต็มที่ ดีไซน์เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้’
ความต้องการของผู้บริโภค คือ โจทย์ใหญ่ของการผลิตสมาร์ทโฟน
* พยายามสร้างวัฒนธรรมในการใช้สมาร์ทโฟนอย่างถูกต้อง
เมื่อถามถึงจุดมุ่งหมายของกาแลคซี่ เอส 6 เอดจ์ ที่ขอบโค้งมนทั้งสองข้างนั้น นอกเหนือจากความโดดเด่นในแง่ดีไซน์แล้ว ซัมซุงมีจุดมุ่งหมายอะไร? โดยผู้บริหารของซัมซุงในประเทศไทย ตอบว่า ‘ซัมซุงเป็นลีดเดอร์ (ผู้นำ) ในการสร้างเทคโนโลยีด้านโมบาย(mobile) ขณะเดียวกันก็พยายามโปรโมตวัฒนธรรมการใช้โมบายด้วย
‘ผมคิดว่าทุกวันนี้คนใช้โมบายผิดที่ เริ่มใช้โมบายโดยไม่รู้ตัว บางอย่างในการใช้ชีวิตผิดไป ผิดที่ยังไง? อย่างเช่น ไปเจอผู้ใหญ่ก็ถือโทรศัพท์ หรือใช้โทรศัพท์ หรือเราแชตไป หรือในห้องประชุมก็แชตอยู่ใต้โต๊ะ การที่เราอยู่กับผู้ใหญ่ หรือ ‘พาร์ทเนอร์’ หรือแม้แต่คนในครอบครัว หลายครอบครัวเริ่มพูดว่า เวลาทานข้าว อย่าเอาโทรศัพท์วางไว้บนโต๊ะแบบนี้ ซึ่งซัมซุงคิดว่าการใช้โมบายแบบนี้มันไม่ใช่ จึงพยายามสร้างนวัตกรรมบางอย่าง ที่จะช่วยลดทอนความรู้สึกตรงนี้ลง
ฉะนั้นจึงมีการออกแบบให้หน้าจอโทรศัพท์โค้งมน ถ้าเราจำเป็นต้องวางโทรศัพท์ วางบนโต๊ะจริงๆ คว่ำหน้าจอ ถือเป็นการแสดงให้เห็นการเคารพคนอีกคนหนึ่งที่เราคุยอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครโทรมา สีจะขึ้นที่ ขอบโค้งของจอ ถ้าตั้งไว้สีแดง เป็นนายเรา อาจจะบอกคนข้างหน้าว่า ผมขอโทษจริงๆ ขอรับโทรศัพท์ข้างนอกหน่อย มันโพไลต์ หรือ สุภาพมากกว่า หรือคนใกล้ชิดเราก็เซตไว้ 5 คน ทำให้บอกว่าโทรมา หรือส่งแมสเสจมา จำเป็นต้องรับแน่นอน อย่างนี้เป็นเรื่องเล็กนิดเดียวจริง แต่เราก็อยากจะพัฒนาว่า จะทำยังไงจะบาลานซ์ (สร้างสมดุล) ระหว่างการใช้ชีวิตกับโทรศัพท์
ในวันซัมซุง เปิดตัว ‘กาแลคซี่ เอส 6’ และ ‘เอส 6 เอดจ์’
* อนาคตข้างหน้าโทรศัพท์มือถือกำลังถูกท้าทาย
วิชัย พรพระตั้ง กล่าวถึงอนาคตของโทรศัพท์มือถือว่า กำลังถูกท้าย ทำอย่างไรจะเป็นมากกว่า กรอบสี่เหลี่ยม อนาคตมาจากนี้ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ผมทำงานในวงการนี้ 4-5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเรามองย้อนกลับไป ผู้คนเปลี่ยน ไปเยอะมาก 4-5 ปีที่แล้ว โทรศัพท์คือโทรศัพท์ ใช้โทร.เข้าโทรออกเท่านั้น ต่อมา ขยับขึ้นเป็นการใช้ เล่นเกม อย่าง ‘แองกี้เบิร์ด’ เล่นๆ.. มาถึงจุดหนึ่ง ‘วอทส์แอปป์’ เริ่มมาแล้ว.. ต่อมาอีก ไม่รู้อะไรถาม ‘กูเกิล’ การใช้งานอินเทอร์เน็ตหลากหลายมาเยอะขึ้น หน้าจอต้องขยายจาก 3 นิ้ว เราต้องดูจากพฤติกรรมคนใช้ เฟซบุ๊กมา แล้ว เปลี่ยนไปเรื่อย ‘วอท เน็กซ์’ มาอีกแล้ว เพียงแต่อะไรที่จะเปลี่ยนไป เราจะเห็นว่าผู้คนทุกวันนี้ขายของบนอินสตาแกรมกันเยอะมาก
กาแลคซี่ เอส 6 เอดจ์ ถือเป็นสุดยอดดีไซน์ของค่ายซัมซุง
* ‘S6 เอดจ์’ เป็นโมเดล เชนจ์ คือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
วิชัย พรพระตั้ง กล่าวถึง เอส 6 เอดจ์ ในฐานะผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของซัมซุงว่า เป็น Changer (เชนเจอร์) หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลย เพราะถือเป็นการเริ่ม เปิดข้อจำกัดของการดีไซน์ของสมาร์ทโฟน ให้กว้างออกไป เมื่อก่อนนี้เราคิดแต่ว่า ดีไซน์ มีแค่กล่องสี่เหลี่ยมอยู่แค่นี้ ไปไหนไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับดีไซน์ ต้องการให้มันดูเป็น ‘จิวเวลรี่’ มีค่ากว่านี้ เราใช้กระจกกอริลลา กลาส 4 ซึ่งมันแข็งแรงมาก แข็งแรงกว่าเก่ามาก ต้องการให้เป็น 3 D และ 2.5D ดูดีๆ สีจะไม่อยู่ในกระจก สีอยู่ใต้กระจก จะให้ฟิลลิง (ความรู้สึก) มีความเหลื่อมกันอยู่ อีกทั้งยังพยายามจะให้เกิดฟิงเกอร์พรินต์ (Fingerprint) หรือรอยนิ้วมือน้อยที่สุดบนกระจกหน้าจอสมาร์ทโฟนด้วย
* ขอขอบคุณทุกความเห็น
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับซัมซุง กาแลคซี่ เอส 6 เอดจ์ นั้น วิชัย พรพระตั้ง ตอบว่า ‘หลักๆ คือเรื่องของดีไซน์ ผมเชื่อว่า เราเทคคอมเมนต์จากหลายครั้งที่ผ่านมา ทุกคนชอบพูดว่า แมตทีเรียล (วัสดุ) ของเรามันไม่พรีเมียม คือเรารับได้ และเราขอบคุณลูกค้า และขอบคุณทุกความเห็น ที่บอกเราบอกว่า เราต้องตื่นขึ้น และเราต้องทำอะไรที่รองรับ ความเป็นพรีเมียม จึงพยายามหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ที่สามารถทำได้ ซึ่งการเบรนด์ (งอ) ตัวเครื่องเป็นเอดจ์ เคิร์ฟ หรือโค้งมน อย่างนี้ ไม่มีใครเคยทำได้ และตอนที่ทำบนกาแลคซี่ โน้ต เอดจ์ (Galaxy Note Edge) ซึ่งโค้งแค่ข้างเดียว มันก็ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเราก็รู้ดีว่า จะมีปัญหาเรื่อง ‘แมส โปรดักชั่น’ หรือการผลิตผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก เพราะ เอดจ์ 2 ข้าง ทำยาก ไม่เคยมีใครทำ และยากมาก ผมคิดว่าการทำแมส โปรดักชั่น เป็นล้านๆ ตัวในเวลาอันสั้น ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย’
สมาร์ทโฟน กลายเป็น ‘ปัจจัยที่ 5’ ของผู้คนในยุคนี้
‘โค้งเพื่ออะไรนะเหรอครับ ตอบสั้นๆ คือ ในแง่ของดีไซน์ สวยขึ้นแน่ๆ และการกริ๊ป (Grip) หรือจับก็จะดีขึ้น จับกระชับ และเราดูดีไซน์ กระจกที่โค้งมันสวย ไม่รู้จะตอบยังไง สวยจริงๆ เห็นครั้งแรก ยังตกใจว่า เฮ้ย!… ทำได้ยังไง และการทำให้หน้าจอโค้งมนสองข้าง เพื่อปล่อยการพัฒนาซอฟต์แวร์ลงไป เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้มีซิมเปิล ซอฟต์แวร์แล้ว และจะพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต’
เรียกว่า กว่าจะพัฒนาสมาร์ทโฟนให้โดดเด่นทั้งด้าน เทคโนโลยีและดีไซน์ จนกลายเป็น ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่สักรุ่นหนึ่ง ที่ครองใจผู้บริโภคนั้น มันไม่ใช่ ‘เรื่องง่ายๆ’ เพราะทุกฝ่ายต้องทุ่มเททุกสรรพกำลัง โดยเฉพาะใส่ ‘หัวใจ’ ลงไปกับงานอย่างเต็มที่
‘ต้องการเอ็นจอยสมาร์ทโฟนที่สุดยอดดีไซน์ ทั้งพาวเวอร์ เอาเอส 6 ไปเถอะ ทำมาหลายปีแล้ว ผมยอม และผมคิดว่าทุกคนจะต้องตะลึงงันกับมันแน่นอน’ เป็นคำพูดทิ้งท้ายของ ‘วิชัย พรพระตั้ง’ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงของค่าย ซัมซุง ส่วนจะจริงหรือไม่... คำตอบคงอยู่ที่ ลูกค้า หรือผู้บริโภคเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิสูจน์เรื่องนี้ !!
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved