ส่องสวนสัตว์เมืองกรุง เปิดกรงดาดฟ้าพาต้า ชีวิตหมอง-คนมองเศร้า!?

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2646
หางาน,สมัครงาน,งาน,ส่องสวนสัตว์เมืองกรุง เปิดกรงดาดฟ้าพาต้า ชีวิตหมอง-คนมองเศร้า!?

หากพูดถึงสวนสัตว์...นึกถึงอะไรได้บ้าง? บางคำตอบอาจจะมีเจ้ากอริลลา ‘บัวน้อย’ ที่เคยตกเป็นข่าวโด่งดังรวมอยู่ด้วย จากเรื่องที่มีกระแสว่า บัวน้อยผอมโซ สัตว์ต่างๆ ในสวนสัตว์พาต้าอยู่อย่างอดๆอยากๆ ไร้อิสรภาพ รวมถึงความไม่เหมาะสมที่จะตั้งสวนสัตว์อยู่บนอาคาร ท่ามกลางมลพิษต่างๆ นานา ของสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขออาสาบุกไปสำรวจสวนสัตว์ชั้นดาดฟ้าใจกลางเมืองกรุง ไปดูกันว่า สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง...

ทางเดินเพื่อขึ้นไปสวนสัตว์

ชั้น 6 โซนนอกห้องแอร์ เป็นตู้กระจกวางเรียงๆ กัน

จากการลงพื้นที่สำรวจสวนสัตว์พาต้า ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าพาต้า ปิ่นเกล้า บนชั้น 6 และ 7 พบว่า ชั้น 6 เป็นโซนสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์น้ำ เช่น งู กิ้งก่า เต่า ตะพาบ ปลากระเบน มีทั้งนอกห้องแอร์และในห้องแอร์ บรรยากาศเมื่อเข้าไปให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในสวนสัตว์ เหมือนเป็นอาคารพาณิชย์ที่มีตู้กระจกเล็กๆ เรียงรายกัน นอกจากนี้ ยังพบว่า บางตู้เป็นตู้เปล่า จากนั้นเมื่อทีมข่าวฯ เดินเข้าไปในโซนห้องแอร์ก็ให้อารมณ์อึดอัด เงียบสงัด เนื่องจากไม่ค่อยมีคน ทางเดินในโซนงูจะค่อนข้างมืด ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนมาบ้านผีสิงมากกว่าสวนสัตว์เสียด้วยซ้ำ เมื่อเดินไปได้สักพัก ทีมข่าวฯ ก็พบกับกรงนก แต่ความสูงของกรงประมาณ 3 เมตร ทำให้นกบินขึ้นไปได้ไม่สูงนัก ดูแล้วเหมือนโดนเอามาขังมากกว่า รวมถึงมีโซนจัดแสดงสัตว์อยู่ในชั้น 6 ด้วย

ส่วนชั้น 7 เป็นชั้นดาดฟ้า จะมีแพนกวินอยู่ในอาณาจักรที่มีลายกำแพงเป็นรูปขั้วโลก แบบโดดเดี่ยวเพราะมีอยู่ตัวเดียว เดินมาอีกหน่อยจะเจอฝูงแกะหลายตัว ถูกล้อมอยู่ในคอก รอคนมาป้อนอาหาร เดินเข้ามาเกือบด้านในสุดเป็นกรงเสือ ที่เจ้าเสือเดินวนไปวนมากว่า 30-40 รอบ ส่วนด้านในสุดเป็นอาณาจักรของหมี สังเกตได้ว่า มีพฤติกรรมเหมือนเสือ คือ เดินวนไปวนมาอยู่ที่เดิมซ้ำๆ นอกจากนี้ ยังมีลิงชิมแปนซีและกอริลลา ที่เป็นตัวไฮไลต์ของสวนสัตว์พาต้าอาศัยอยู่ในชั้น 7 ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เจ้ากอริลลา เพศเมียสุดฮอตของสวนสัตว์พาต้า หรือที่รู้จักกันว่า “บัวน้อย” อยู่ในกรงขนาด 20x10 เมตร และเป็นห้องกระจกด้านใน เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากผู้ชม ป้องกันเสียงรบกวน ป้องกันคนให้อาหารและในห้องยังควบคุมอุณหภูมิ ทั้งเปิดแอร์ เปิดพัดลม มีโดมเปิดรับแสงแดด อีกทั้งยังมีโทรทัศน์ไว้ให้ดูด้วย สำหรับตัวบัวน้อยเอง มีสภาพอ้วนท้วน หลังจากกินผักและผลไม้ อาหารสุดโปรดเสร็จ ก็ไปนั่งดูโทรทัศน์อยู่มุมห้อง จากนั้นค่อยเดินไปเดินมาบ้าง หรือนั่งมองผู้ชมบ้าง

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์พาต้า ทราบว่า สวนสัตว์พาต้ามีจำนวนสัตว์ประมาณ 260 ตัว 97 ชนิด เปิดทุกวันจันทร์-อาทิตย์ อัตราค่าเข้าชมสวนสัตว์สำหรับเด็ก ราคา 50 บาท ผู้ใหญ่ 80 บาท และมีการแสดงสัตว์ อาทิ ละครลิง มายากลเปลี่ยนหน้ากาก กายกรรม โชว์สัตว์โลกน่ารัก ในวันเสาร์และอาทิตย์

โซนงู ทางเดินค่อนข้างมืดมากๆ

กรงนกที่อยู่ในชั้น 6 ดูคับแคบ

ทุ่มงบกว่าครึ่งล้าน เลี้ยงดูอาณาจักรสัตว์บนดาดฟ้าใจกลางเมือง

นายคณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการสวนสัตว์พาต้า เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการดูแลสวนสัตว์ ว่า งบประมาณที่ดูแลสวนสัตว์ทั้งหมด ได้มาจากค่าเข้าชม และงบสนับสนุนจากห้างพาต้า โดยค่าใช้จ่ายในการดูแลทั้งหมดประมาณ 4-5 แสนบาท/เดือน ส่วนกอริลลา ค่าใช้จ่าย หลายหมื่นบาท/เดือน ขณะที่รายได้จากผู้เข้าชมนั้นไม่แน่นอน วันธรรมดาผู้เข้าชมจะไม่เยอะ หากเป็นวันหยุด หรือช่วงปิดเทอมจะมีผู้เข้าชมเยอะ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจก็มีส่วนเช่นกัน

ทั้งนี้ รายจ่ายหลักๆ ของสวนสัตว์ จะเป็นค่าอาหารสัตว์ ถ้าเป็นสัตว์กินเนื้อ ก็จะซื้อเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ส่วนสัตว์กินพืช จะซื้อกล้วย มะละกอ มันแกว ข้าวโพด เป็นต้น

บรรยากาศของชั้น 7 สวนสัตว์บนดาดฟ้า มองไปรอบๆ มีแต่ตึกสูง

แพนกวินน้อย แสนโดดเดี่ยวในอาณาจักรน้ำแข็ง

‘บัวน้อย’ ซุป’ตาร์ ประจำสวนสัตว์พาต้า

ผอ.สวนสัตว์พาต้า เผยว่า กอริลลา ‘บัวน้อย’ ที่เป็นไฮไลต์ของสวนสัตว์ มีอายุได้ 27 ปี โดยเข้ามาอยู่ที่เมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 มีน้ำหนักประมาณ 180 กิโลกรัม โดย บัวน้อย จะกินพืชผัก ผลไม้ เป็นอาหาร จะไม่กินเนื้อ และมีนิสัยค่อนข้างที่จะสุภาพอ่อนโยนมาก

สำหรับค่าอาหารของ กอริลลา ‘บัวน้อย’ ต่อเดือนนั้นหลายหมื่นบาท เนื่องจากจะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เรื่องอาหาร วิตามิน เรื่องยา รวมถึงมีสัตวแพทย์คอยดูแลเป็นประจำ ขณะที่บางช่วงที่ดูแล้วว่ากอริลลาเริ่มอ้วน ทางสวนสัตว์จะพยายามควบคุมอาหาร เพราะสิ่งที่สวนสัตว์กลัวที่สุด คือ สัตว์จะอ้วน เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่ต้องออกกำลังกายเพื่อจะไล่ล่าหาอาหาร ต่างจากธรรมชาติที่จะต้องวิ่งไล่ล่าหาอาหารกว่าจะได้ก็เป็นครึ่งวัน แต่หากอยู่ในสวนสัตว์ เมื่อถึงเวลาจะมีพี่เลี้ยงนำอาหารมาให้ เพราะฉะนั้น โอกาสที่สัตว์จะอ้วนจึงเป็นสิ่งที่ระมัดระวังกัน สัตว์ก็เหมือนกับคน เมื่ออ้วนมากๆ โรคภัยหลายอย่างก็รุมเร้า ฉะนั้น จะต้องควบคุมความเหมาะสมด้วย

เสือดาว เดินวนอยู่ในกรงประมาณ 30-40 รอบ

ชิมแปนซี สุดฉลาดทักทายนักท่องเที่ยว

เน้นความสะอาด ล้าง เช้า กลางวัน เย็น หวั่นเชื้อโรค

นอกจากนี้ นายคณิต ยังได้ให้ข้อมูลเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดของสวนสัตว์พาต้า ว่า ช่วงเช้าทางสวนสัตว์จะมีการฉีดล้างน้ำเปล่าก่อน จากนั้นฉีดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนจะเริ่มให้อาหารเช้า พอเสร็จจากให้อาหารเช้าแล้ว ช่วงบ่ายจะมีการฉีดล้างด้วยน้ำเปล่า เพื่อชำระเศษสิ่งปฏิกูลของสัตว์ ช่วงเย็นจะฉีดล้าง เพื่อกำจัดเชื้อโรคและจะให้อาหารอีกครั้ง โดยใน 1 วัน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์พาต้าจะล้างทำความสะอาดประมาณ 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องเชื้อโรคได้

ฝูงแกะ รอผู้ชมมาให้อาหาร

ไขข้อสงสัย สวนสัตว์ในห้างเหมาะสมหรือไม่ ?

หลายคนในสังคม ต่างตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ห้างสรรพสินมาทำเป็นสวนสัตว์ หวั่นเกรงทั้งความอึดอัดและมลพิษใจกลางเมือง โดยนายคณิต ผอ.สวนสัตว์พาต้า ให้คำตอบกับเรื่องดังกล่าวว่า ตอนที่ทำสวนสัตว์ พื้นที่ในการที่จะกำหนดว่าสัตว์ชนิดไหนเหมาะสมกับพื้นที่ขนาดเท่าไร ทางผู้ประกอบการจะเป็นผู้ดูว่าเหมาะสมหรือไม่ จากการที่ได้ศึกษาและไปดูสวนสัตว์มาทั่วโลก ว่าถ้าจะเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ พื้นที่ขนาดนี้น่าจะพอเหมาะ ไม่คับแคบจนเกินไป ไม่กว้างเกินความจำเป็น

ขณะที่ในกฎของผู้ดูแล ซึ่งก็คือกรมอุทยานฯ ตอนแรกไม่ได้กำหนดว่าถ้าผู้ใดจะเลี้ยงสัตว์ชนิดไหนต้องมีพื้นที่เท่าไร จุดนี้ไม่มีข้อกำหนด ในเมื่อไม่มี ผู้ประกอบการก็เป็นผู้ที่จัดทำขึ้นมาเอง แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม ไม่เป็นการทรมานสัตว์ แต่ต่อไปในอนาคตทางกรมอุทยานฯ กำลังจะแก้ไขเรื่องพวกนี้ว่าจะกำหนดพื้นที่ว่า ถ้าจะเลี้ยงอะไรควรมีพื้นที่เท่าไร เพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

กรงของกอริลลา บัวน้อย ป้องกันเชื้อโรค

บัวน้อย เดินไปดูโทรทัศน์

นายคณิต อธิบายต่อว่า สวนสัตว์จะมี 2 รูปแบบ คือ สวนสัตว์ปิด เป็นสวนสัตว์ที่อยู่ในเมือง พื้นที่ในสวนสัตว์จะไม่เยอะ แต่ถ้าเป็นสวนสัตว์เปิดที่ออกไปนอกเมืองจะมีพื้นที่กว้างขวางให้สัตว์ออกมาเดินใกล้ชิดนักท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ สวนสัตว์ปิด การดูแลจะง่ายและสะดวก เจ้าหน้าที่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด แต่หากเป็นสวนสัตว์เปิดพื้นที่กว้างๆ เจ้าหน้าที่จะไม่รู้ว่าสัตว์ไปหลบอยู่ตรงไหน ได้รับบาดเจ็บตรงไหน กว่าจะรู้ก็ช้า ฉะนั้น ข้อดีข้อเสียจะแตกต่างกัน

ผอ.สวนสัตว์พาต้า เผย อนาคตอาจขยายที่ หรือย้ายไปรวมกับที่อื่น

ทั้งนี้ นายคณิต เล่าถึงทิศทางการดำเนินงานของสวนสัตว์พาต้าในอนาคตข้างหน้าให้กับทีมข่าวฯ ฟังว่า เนื่องจากสวนสัตว์ขยายพันธุ์สัตว์ได้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ที่มีจำกัด ทางสวนสัตว์อาจจะต้องขยายเพิ่มเติมในภาคพื้นดิน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดูสถานที่ที่เหมาะสมในการย้ายสัตว์ ตามโครงการอย่างน้อย 3-5 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังดูสถานที่และทำการศึกษาข้อมูล รวมถึงหาวิธีเคลื่อนย้ายอย่างเหมาะสมก่อน โดยเฉพาะเรื่องการย้ายกอริลลา ‘เจ้าบัวน้อย’ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เนื่องจากกอริลลาเป็นสัตว์ที่เปราะบาง หากลงไปอยู่ในภาคพื้นดินแล้วจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะตายสูง

บัวน้อย เหลือบมามองกล้องนิดนึง

นอนกิน โชว์ผู้ชม

“สำหรับสถานที่ที่กำลังเล็งๆ ไว้ ก็อาจจะไปร่วมกับกลุ่มที่เป็นพันธมิตรด้วยกัน จำนวนสัตว์ที่มีเยอะก็ต้องการที่จะขยับขยายในการที่จะไปเปิดสวนสัตว์แห่งใหม่ ซึ่งอาจจะทำสวนสัตว์เองเลย หรืออาจจะเข้าร่วมพันธมิตรต่างๆ โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความปลอดภัยของกอริลลาให้อยู่ในสถานที่ที่ดีด้วย” ผอ.สวนสัตว์พาต้า ระบุ

สำหรับในตอนต่อไป ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปสำรวจสวนสัตว์ดุสิต หรือที่รู้จักกันในนาม 'เขาดิน' จะเป็นอย่างไรต่อไป รอติดตามได้...

​ขอบคุณ ไทยรัฐ

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top