ผู้สมัครงาน
ขณะที่ความช่วยเหลือจากนานาประเทศกำลังมุ่งตรงไปที่กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล อีกฟากหนึ่งที่เทือกเขาเอเวอเรสต์ เทือกเขาที่ขึ้นชื่อว่ามีนักปีนเขาเอาชีวิตไปทิ้งมากที่สุด ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้เช่นกัน โดยเกิดหิมะถล่มอย่างหนัก พรากชีวิตนักเดินทางไปอีกนับสิบๆ ราย
แต่ไม่ว่าเทือกเขาแห่งนี้จะขึ้นชื่อเรื่องความอันตรายมากแค่ไหน ในแต่ละปีก็ยังมีนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก ต่างปักหมุดไว้ที่นี่ อาจเป็นเพราะเอเวอเรสต์คือความท้าทายที่มีเสน่ห์ สามารถดึงดูดนักปีนเขาให้มาทดสอบความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจกันอยู่เสมอ
เชื่อว่าหลายคนอยากไปพิชิตยอดเขาแห่งนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่ขอเตือนก่อนว่ามันอันตราย ใช่ว่าทุกคนจะสามารถพิชิตได้สำเร็จ แต่ถ้าอยากรู้ว่าการไปปีนเขาที่นี่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ไทยรัฐออนไลน์ ก็ได้รวบรวมข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนไปปีนเขา และข้อน่ารู้อื่นๆ เกี่ยวกับเอเวอเรสต์มาให้อ่านกัน อย่ารอช้า ตามมาชม 10 ข้อก่อนไปพิชิตเอเวอเรสต์กันดีกว่า
นักผจญภัยต่างหวังพิชิตยอดเขาแห่งนี้ให้ได้
1. มนุษยชาติพิชิตเอเวอเรสต์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1953
คณะเดินทางจากอังกฤษนำทีมโดย จอห์น ฮันต์ (John Hunt) ร่วมด้วย เอดมันด์ ฮิลลารี ชาวนิวซีแลนด์ และ เทียนซิง นอร์เก ชาวเชอร์ปา ได้ปีนขึ้นไปบนยอดเขา โดยเอดมันด์และเทียนซิงได้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ลงได้เป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 ที่ยอดเขาทั้งสองได้หยุดพักถ่ายรูป รวมทั้งฝังลูกอมและไม้กางเขนเล็กๆ ไว้ในหิมะก่อนจะเดินทางกลับ
เมื่อข่าวความสำเร็จของคณะเดินทางขจรไกลไปถึงลอนดอน สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สอง ก็ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความพยายามและความสำเร็จในครั้งนี้
ข้ามธารน้ำระหว่างทาง
2. เอเวอเรสต์ หลุมฝังศพของนักปีนเขา?
ในฤดูกาลปีนเขาปี ค.ศ. 1996 เกิดเหตุการณ์พายุหิมะอย่างหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์มากที่สุดถึง 15 คน โดยมีบุคคลสำคัญอย่าง ร็อบ ฮอลล์ (Rob Hall) และ สก็อต ฟิชเชอร์ (Scott Fischer) สองนักปีนเขาผู้มากประสบการณ์ ผู้ถูกจ้างให้นำทางคณะสำรวจก็ได้จบชีวิตลงที่นี่
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้รอดชีวิตกลับมาคือ จอน คราเคอร์ (Jon Krakauer) และ เบค เวเธอร์ส (Beck Weathers) พวกเขาได้กลับมาเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์เฉียดตาย โดย จอน คราเคอร์ เขียนหนังสือ Into Thin Air และกลายเป็นหนังสือขายดีในเวลาต่อมา ส่วน เบค เวเธอร์ส ออกหนังสือชื่อ Left for dead
เทือกเขาที่ได้ชื่อว่าอันตรายสุดๆ
3. คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
ไม่ใช่แต่ชาวต่างชาติเท่านั้นที่ไปพิชิตยอดเขาแห่งนี้ได้ แต่คนไทยอย่าง วิทิตนันท์ โรจนพานิช ก็เป็นคนไทยคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 08:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นเนปาล ร่วมกับนักปีนเขาชาวเวียดนาม 3 คนจากรายการเรียลลิตี้โชว์ “Conquering Mount Everest 2008″ ของสถานีโทรทัศน์วีทีวี ประเทศเวียดนาม (ได้แก่ Phan Thanh Nhien, Bui Van Neogi, Nguyen Mau Linh)
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2550 สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี กรมประชาสัมพันธ์ และกองทัพเรือไทย ได้ร่วมมือจัดโครงการส่งนักปีนเขาชาวไทยขึ้นไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ในนามโครงการ TITV The Everest : The Unlimited Spirit of Thailand 2007 โดยมีกำหนดที่จะพิชิตยอดเขาให้ได้ราวเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2550 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ความพยายามครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศเลวร้าย ทีมนักปีนเขาของไทยต้องยอมกลับลงมา หลังจากปีนขึ้นไปถึงระดับความสูงประมาณ 8,500 เมตร
นักปีนเขาไต่ไปบนความสูงชัน
4. นักปีนเขามือใหม่ต้องปฏิบัติ!
ถ้าอยากลองวัดใจไปปีนเขาที่เอเวอเรสต์ ก่อนอื่นต้องไปประลองฝีมือที่ยอดเขาแห่งอื่นๆ จนชำนาญเสียก่อน อย่าได้ริไปลองที่เอเวอเรสต์เป็นที่แรกถ้าไม่อยากเอาชีวิตไปทิ้งฟรีๆ นักปีนเขาหลายคนเขียนแนะนำไว้บนโลกออนไลน์ว่า การไปปีนเขาเอเวอเรสต์ต้องแพลนการเดินทางไปในวันที่ภูมิอากาศดี แจ่มใส (ต้องไปหน้าร้อนเท่านั้น) โดยเฉพาะวันที่จะถึงยอดเขาต้องเป็นวันที่อากาศดีสุดๆ หากสภาพอากาศเปลี่ยนเป็นเลวลง ถึงจะใกล้ยอดสักเท่าไรก็ต้องหันหลังกลับ
นอกจากนี้เวลาในการปีนเขาแต่ละจุดต้องแม่นยำ หากราวๆ เที่ยงแล้วยังเดินไม่ถึงยอดเขา แม้ว่าจะอยู่อีกใกล้แค่ไหนก็ต้องหันกลับ ถ้าไม่กลับอาจมีสิทธิ์ติดค้างกลางทางตอนขากลับช่วงกลางคืน มีสิทธิ์หนาวตายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และเซียนปีนเขาทั้งหลายต่างรู้ดีว่าพวกเขาจะต้องไปพิชิตยอดเขา 10 อันดับแรกของโลกมาอย่างน้อย 3-4 ลูก ถึงจะมาไต่เขาที่เอเวอเรสต์
บริเวณตั้งแคมป์
5. ค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่ว
ไม่ใช่แค่ร่างกายแข็งแรง และจิตใจที่แข็งแกร่งเท่านั้น แต่คุณต้องมีงบประมาณที่ค่อนข้างสูงสำหรับการมาไต่เขาที่เอเวอเรสต์ ว่ากันว่าต้องใช้เงินประมาณ 1 - 2.8 ล้านบาทเลยทีเดียว เพราะการจะปีนเขาไปและกลับได้ คุณต้องซื้ออุปกรณ์กันหนาวอย่างดี รวมถึงอุปกรณ์การปีนเขา อุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมถึงถังออกซิเจนขนาดพกพา ค่าใช้จ่ายสำหรับจ้างเชอร์ปา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกตลอดระยะเวลา 1-2 เดือน ที่ต้องไปอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นคิดดีๆ และวางแผนเก็บสตางค์ให้รอบคอบ ถามตัวเองก่อนว่าเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้จะเอาไปปีนเขาเอเวอเรสต์จริงหรือเปล่า?
6. เตรียมเงินแล้ว ก็ต้องเตรียม 'ปอด' ด้วย
สำหรับใครที่ตั้งมั่นว่าจะไปปีนเขาที่นี่ให้ได้จริงๆ (และเตรียมเงินไว้ตามเป้าหมายได้แล้ว) สิ่งต่อมาที่ต้องทำคือเตรียมร่างกายตัวเองให้พร้อม อย่างแรกเลยคือ การฝึกปอดให้สามารถรับออกซิเจนได้ดี และส่งออกซิเจนแพร่ไปในกระแสเลือดได้ดี มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำมาหลายแบบ ได้แก่ วิ่งวันละ 30 นาที ว่ายน้ำมากๆ ฝึกปีนหน้าผาจำลอง ฝึกวิธีใช้อุปกรณ์การปีนเขา ซึ่งยอดเขาแต่ละแห่งจะใช้อุปกรณ์คล้ายๆ กัน (แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด) นอกจากนี้ก็ควรไปปรับสภาพร่างกายที่แคมป์บนเขาสัก 2-3 สัปดาห์ หรืออย่างที่บอกไว้ข้างต้นคือ ไปฝึกกับยอดเขาแห่งอื่นๆ ให้ชำนาญก่อน ค่อยไปไต่เขาเอเวอเรสต์ของจริง
มีสัตว์ช่วยขนสัมภาระ
7. เสริมสร้างเม็ดเลือดแดง
วิธีนี้อาจจะดูแปลกๆ สักหน่อย แต่คิดว่าเป็นวิธีที่นักปีนเขาหลายคนเคยลองทำกัน คือ การฝึกปอดเพื่อให้อัตราการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในเซลล์ได้ดีเยี่ยม โดยต้องไปอยู่ในที่สูงๆ เช่น ดอยอินทนนท์สัก 5-6 เดือน หรืออยู่ในเต็นท์ที่ลดปริมาณออกซิเจนลงประมาณ 3 เดือน จะทำให้ร่างกายมีการเพิ่มเม็ดเลือดแดงมากขึ้น ทำให้ทนและอึดมากขึ้น แต่นอกจากนี้ยังต้องมีวิธีดูแลร่างกายอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อและเม็ดเลือดให้แข็งแรง
ภาพขณะหิมะถล่ม
8. ฝึกความอึด ทึก ทน
อย่างที่บอกว่า การจะไปพิชิตเอเวอเรสต์ได้ร่างกายต้องพร้อมมากๆ ไม่ใช่แค่แข็งแรง แต่ต้องฝึกให้ร่างกายชินกับความกดอากาศ และอุณหภูมิที่เย็นจัดด้วย เนื่องจากบนยอด Everest มีความสูง 29,028 ฟุต หรือ 8,848 เมตร ซึ่งสูงกว่าค่ายฐานแค่สองกิโลเมตรกว่าๆ แต่สังเกตว่านักปีนเขาทำไมต้องใช้เวลาหลายวันในการเดินขึ้นไป
นั่นก็เพราะว่านักปีนเขาต้องการปรับสภาพร่างกายให้คุ้นเคยกับภาวะออกซิเจนน้อย โดยการเดินขึ้นเดินลงจากแคมป์ 1, 2, 3 สลับกัน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวสร้างเม็ดเลือดแดง เพื่อดูดซับออกซิเจนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่แคมป์ค่ายฐาน มีระดับความสูง 6 กิโลเมตรกว่าๆ มีระดับออกซิเจนแค่ 50% ที่ระดับน้ำทะเล ส่วนบนยอดเอเวอเรสต์ มีระดับออกซิเจนประมาณ 30% ที่ระดับน้ำทะเล
ถ้าคุณไม่ได้ฝึกปรับตัวกับสภาพอากาศ แล้วอยู่ดีๆ ขึ้นไปอยู่ที่บนยอดเอเวอเรสต์ จะหมดสติและเสียชีวิตใน 5 นาที
เบสแคมป์
9. เตรียมถังออกซิเจน
ถ้าไม่มั่นใจว่าร่างกายคุณมีประสิทธิภาพในการดูดซับออกซิเจนระหว่างเดินขึ้นเขาได้มากพอ ขอบอกว่าถังออกซิเจนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีนักปีนเขาที่เคยพิชิตเอเวอเรสต์ได้โดยไม่ต้องใช้ถังออกซิเจนหลายคน เช่น ไกด์ของสก็อต ฟิชเชอร์ ที่ชื่อ อนาโตลี บูเครเยฟ และ ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ เขาปีนเอเวอเรสต์ในปี 1980 ปีนเดี่ยวคนเดียวไม่ใช้ถังออกซิเจน แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าร่างกายแต่ละคนมีความอึดไม่เท่ากัน ถ้าจะให้ดีเตรียมไปเผื่อไว้ดีกว่านะ โดยการปีนขึ้นไปถึงแคมป์แต่ละจุดออกซิเจนในอากาศก็จะเบาบางลงเรื่อยๆ ตามแคมป์ก็จะเห็นเพื่อนร่วมทางหลายคนควักเอาออกซิเจนมาเติมใส่ปอดกันเป็นปกติ
เอเวอเรสต์ตั้งตระหง่านยิ่งใหญ่
10. เชอร์ปา เบื้องหลังความสำเร็จของผู้พิชิต
รู้หรือไม่ว่า นักปีนเขาหลายคนที่ไปพิชิตยอดเขาจนสำเร็จได้นั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคอยนำทาง คอยช่วยเหลือ รวมถึงแบ่งปันอาหารระหว่างทางก็คือ เชอร์ปา (Sherpa) พวกเขาเป็นชนเผ่าหนึ่งของราชอาณาจักรเนปาล พื้นเพเป็นคนที่สูง ใช้ชีวิตบนที่สูงได้ดี และทรหดอดทน ต่อมาชาวเชอร์ปามักจะถูกว่าจ้างให้เป็นลูกหาบ คอยขนสัมภาระให้กับนักเดินทางและนักสำรวจอยู่เสมอ หลังๆ มานักท่องเที่ยวทุกคนก็เลยเรียกลูกหาบของที่นี่ว่าเชอร์ปาไปโดยปริยาย
สำหรับเชอร์ปาที่มีชื่อเสียงก็คือ เทียนซิง นอร์เกย์ เขาขึ้นพิชิตยอดเอเวอเรสต์ได้ถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้เชอร์ปาคนอื่นๆ ก็เป็นนักปีนเขาตัวยง พวกเขาทำงานหนัก มีไหวพริบ และอดทน โดยเฉพาะผ่านการขึ้นยอด Everest มาแล้ว จะสามารถหาเงินได้หลายแสนบาทต่อปี
ขอบคุณภาพ : wikipedia, hikebiketravel, flickrN06, pinterest, trekearth, rmiguides, bumpandrunchat,
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved