ผู้สมัครงาน
ช่วงนี้ฝนเทลงมาให้ชุ่มฉ่ำกันแทบจะวันเว้นวัน ช่วยดับร้อนไปได้เยอะ แต่บางพื้นที่อาจจะลำบากกับการเดินทางเพราะน้ำท่วมขัง เอาเป็นว่าอย่าหงุดหงิดอยู่เลย แพลนวันว่างหนีความวุ่นวายไปเที่ยวหน้าฝนกันดีกว่า แต่ว่าจะไปเที่ยวหน้าฝนทั้งที คงต้องมีความพร้อมกันให้มากกว่าฤดูอื่นสักนิด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'ฤดูฝน' เป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่เหมาะกับการท่องเที่ยว อย่างแรกเลยคือ อากาศไม่ร้อนจัด ได้เห็นบรรยากาศผืนป่าเขียวชอุ่มสบายตา สองคือ เป็นช่วงเดียวในหนึ่งปีที่ 'น้ำตก' จะสวยงามมากที่สุด และสาม ใครที่ชอบดูทะเลหมอก ขอบอกว่าหมอกฝนบนยอดภูสวยไม่แพ้หมอกน้ำค้างในหน้าหนาวเลย
แต่ไปเที่ยวหน้าฝนก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วย จะได้ไม่ป่วยกลับมา วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จึงได้รวบรวมคู่มือ 10 ข้อในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการออกไปลุยเที่ยวหน้าฝนมาให้ลองอ่านกัน เพื่อที่คุณจะได้ท่องเที่ยวให้สนุกไม่มีสะดุด และมีความปลอดภัย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ล้อมวงเข้ามาชมทางนี้
1. ต้องรู้! อากาศวันนี้มีพายุมั้ย?
เช็กสภาพอากาศกันก่อนนะจ๊ะ
ใช่แล้ว จะไปเที่ยวหน้าฝนสำคัญที่สุดคือ ต้องเช็กสภาพอากาศกันก่อน รู้แหละว่าต้องมีฝนตกฝนปรอยกันบ้าง แต่ถ้าสถานที่ที่จะไปเกิดมีฝนฟ้าคะนองพายุเข้า ถึงขั้นพัดกิ่งไม้หักหรือเสาไฟข้างทางล้ม แบบนี้...ควรเปลี่ยนแผนนะ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า
แต่ถ้าดูพยากรณ์อากาศแล้ว พบว่ามีฝนตกปรอยๆ ธรรมดา อย่างน้อยก็จะได้รู้ตัวล่วงหน้า เวลาขับรถบนถนนลื่นๆ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น และเพื่อความชัวร์ อาจจะโทรศัพท์ไปสอบถามสภาพอากาศกับเจ้าหน้าที่ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ด้วย เช่น อุทยานแห่งชาติต่างๆ มักจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามหน่วย
2. เส้นทางต้องไม่สุ่มเสี่ยง
เที่ยวหน้าฝนอย่างปลอดภัยและสนุก
สิ่งต่อมาคือ ควรเช็กเส้นทางที่จะเดินทางไปเที่ยวว่าเส้นทางนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือเป็นทางขาดเนื่องจากพายุฝนหรือไม่ อาจต้องเช็กจากข่าวต่างๆ และโทรถามเจ้าหน้าที่ โดยมีบริการให้ข้อมูลจากกรมทางหลวง สามารถสอบถามระยะทางระหว่างอำเภอและจังหวัด สอบถามเส้นทาง สอบถามทางลัด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรวมถึงเส้นทางการเดินป่าด้วย ใครจะไปเดินป่าก็ควรตรวจสอบเส้นทางก่อนเช่นกัน การเดินป่าในฤดูฝนควรมีเจ้าหน้าที่นำทางเพื่อความปลอดภัย
3. เช็กพาหนะเดินทางให้ฟิตอยู่เสมอ
อย่าลืมตรวจสภาพรถก่อนทุกครั้ง
ก่อนเดินทางทุกครั้งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เพื่อให้รถมีประสิทธิภาพ สามารถยึดเกาะถนนได้ดีในช่วงหน้าฝน สิ่งที่ต้องตรวจสภาพ มีดังนี้
- ตรวจยางใบปัดน้ำฝน จะช่วยให้ทัศนวิสัยในการขับรถขณะฝนตกสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
- เติมน้ำฉีดล้างกระจก (ควรผสมสบู่เหลวลงไปด้วย) ให้เพียงพอ เพราะอาจจะต้องฉีดล้างกระจกบ่อยครั้ง
- ตรวจระบบไฟส่องสว่างทั้งไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟฉุกเฉินให้พร้อมใช้งาน
- ตรวจอุปกรณ์สำรองในรถยนต์ เช่น ยางสำรอง อะไหล่ต่างๆ
และสุดท้าย ไม่ควรขับรถเร็วขณะฝนตก รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถตอนกลางคืน ขับรถทางไกลเฉพาะตอนกลางวันอุ่นใจกว่า
4. ตั้งการ์ดระวังความเฉอะแฉะ
อย่าลืมเตรียมของกันน้ำต่างๆ ด้วย
ถึงจะเที่ยวหน้าฝน ก็ไม่ได้แปลว่าเราอยากเปียก จริงมั้ย? ดังนั้นเวลาไปเที่ยวก็อย่าลืมพกอุปกรณ์กันฝนต่างๆ เช่น ร่ม เสื้อกันฝน ถุงกันน้ำ (เอาไว้ใส่อุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งกล้อง มือถือ) รองเท้ากันน้ำพวกที่ทำจากยางหรือซิลิโคน เป็นต้น จะได้เที่ยวสนุกไม่ต้องกลัวความเฉอะแฉะ แต่ถ้ามีโปรแกรมเล่นน้ำด้วย ก็ควรเตรียมถุงพลาสติกไปเผื่อใส่เสื้อผ้าเปียกแยกออกจากสัมภาระอื่นๆ ข้าวของจะได้ไม่เปียกแฉะรวมกันไปหมด แถมยังป้องกันกลิ่นอับจากผ้าเปียกได้ด้วย
5. สวมเสื้อผ้าเบาสบาย แห้งง่าย
เสื้อผ้าที่เตรียมไปต้องสวมสบาย แห้งง่าย
สำหรับเสื้อผ้าและของแต่งตัว แนะนำว่าอย่าเอาของแต่งตัวไปเยอะเกินความจำเป็น ถ้าเกิดฝนตกแล้วหลบไม่ทันล่ะแม่คุณเอ๊ย ทั้งหมวก โบติดผม หรือผ้าคล้องแขนคลุมไหลทั้งหลาย ไม่รอดนะจ๊ะ เปียกโชกไปหมด (แทนที่จะเปียกแค่เสื้อกับกางเกง) ต้องมาหาที่เก็บให้วุ่นวายขึ้นไปอีก
ดังนั้นควรจัดเสื้อผ้าไปแต่พอดี และเลือกชุดที่มีเนื้อผ้าบาง แห้งเร็ว เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าร่ม เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงพวกผ้ายีนส์ ถึงแม้จะดูสมบุกสมบัน แต่เมื่อโดนน้ำแล้วจะมีน้ำหนักเพิ่มทวีคูณ เวลาตากกว่าจะแห้งสนิทก็ใช้เวลานาน
ส่วนถ้าใครมีโปรแกรมเดินป่าและค้าง 1 คืน ไม่ควรนำข้าวของไปเกินความจำเป็น จะได้ไม่ต้องแบกเป้ที่หนักมากเกินไป อาจจะเตรียมชุดสำหรับใส่เดินป่าไว้ 1 ชุด และติดชุดสำหรับใส่นอนด้วยอีก 1 ชุดก็พอแล้ว ส่วนชุดที่จะใส่กลับบ้านนั้นแยกฝากไว้ที่อุทยานหรือเก็บไว้ในรถก่อนก็ได้
6. อย่าลืมยาต่างๆ ล่ะ
ยาต่างๆ สำคัญนะ
ถ้าเกิดป่วยขึ้นมาระหว่างการเดินทาง หมดสนุกแน่ๆ กันไว้ดีกว่าแก้ ควรพกยาและเครื่องปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปให้พร้อมสรรพ ยิ่งถ้าใครมีโรคประจำตัวก็ห้ามลืมเด็ดขาด ส่วนยาที่จำเป็นสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวหรือในกรณีการเดินป่า ได้แก่ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ ยาปฏิชีวนะ (กลุ่มยาฆ่าเชื้อ) ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย ผงเกลือแร่
ส่วนพวกยาภายนอกต่างๆ ควรพก ยาหม่อง น้ำเกลือล้างแผล แอลกอฮอล์ล้างแผล ยาเหลือง ยาทาแผลพุพอง ยานวดแก้เคล็ดขัดยอก พลาสเตอร์ติดแผล สำลี ผ้าก๊อซ (ทุกอย่างขอไซส์เล็กก็พอนะจ๊ะ)
7. จะเที่ยวไหนต้องมีข้อมูล
หาข้อมูลให้แน่นไว้ ก่อนไปเที่ยวเสมอ
อีกอย่างคือ ควรทำการบ้านหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ก่อนไปเที่ยวเสมอ ศึกษารายละเอียดของสถานที่ที่จะเดินทางไปว่าตั้งอยู่ไหน เดินทางไปอย่างไรถึงจะสะดวก รวมถึงศึกษาสภาพแวดล้อมต่างๆ เวลาเดินทางจะเปิดแผนที่ในสมาร์ทโฟนควบคู่ไปด้วยก็ได้ สะดวกดี แต่จะให้ดีกว่าคือท่องจำข้อมูลให้ขึ้นใจ จะได้คล่องตัวและไม่เสียเวลาเปิดแผนที่
นอกจากนี้ก็ควรบันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นประโยชน์เอาติดตัวไว้ด้วย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างเดินทางจะได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันท่วงที เช่น กรมทางหลวง 1586 , ตำรวจทางหลวง 1193 , ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1356 , ตำรวจท่องเที่ยว 1195 , ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 1155 , ศูนย์นเรนทร (แจ้งป่วยฉุกเฉิน) 1669 , ศูนย์ควบคุมการจราจร 1197 รวมถึงเบอร์ประกันภัยรถยนต์ที่คุณทำไว้ด้วย
8. อยากตั้งแคมป์ ต้องอยู่ห่างน้ำ
เลือกจุดตั้งแคมป์ให้เหมาะสม
ในกรณีที่มีการตั้งแคมป์ในป่า ไม่ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำมากเกินไป หรือบริเวณหุบเขาที่เคยเป็นช่องทางน้ำไหล เพราะในเวลากลางคืน อาจจะมีน้ำป่าไหลหลากลงมาได้ อีกทั้งสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์ล่าเหยื่อจะชอบมากินน้ำยามค่ำคืน ส่วนเป้ที่ใช้ในการเดินป่าควรเป็นเป้ที่กันน้ำได้ พร้อมผ้าคลุมเป้เพื่อกันน้ำอีกชั้น
ถ้าจะเล่นน้ำตก ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ลงเล่นน้ำในบริเวณที่ห้ามไว้ หรือปีนป่ายในบริเวณที่เป็นพื้นที่อันตราย หากอยู่ท่ามกลางฝนฟ้าคะนอง ควรปิดโทรศัพท์มือถือ และไม่ควรอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่และสูงเด่น เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า
9. เตรียมพร็อพ (Prop) เสริมให้พร้อม
เช็กเส้นทางเดินเที่ยวป่ากันด้วย
พร็อพเสริมในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงตัวช่วยการแต่งตัวอย่างหมวก แว่น ผ้าพันคอ แต่มาเที่ยวหน้าฝนสิ่งจำเป็นมากกว่านั้นคือ ยากันยุง และยากันทากต่างหาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเจ็บตัวและรำคาญไปกับสัตว์ดูดเลือดพวกนี้ ถ้าไปเดินป่าหน้าฝนอาจต้องเตรียมถุงเท้ากันทากเพิ่มไปด้วย
10. หัดฟังเสียงธรรมชาติ (ซะบ้าง)
ฟังเสียงฟ้าฝนเป็นระยะๆ ด้วย
ในกรณีที่เดินป่าอยู่แล้วเกิดฝนตกหนักมากๆ ให้ลองฟังเสียงน้ำ ถ้าได้ยินสายน้ำไหลแรงกว่าปกติอาจหมายถึงเกิดน้ำป่าไหลลงมาจากเขาให้รีบขึ้นที่สูง กรณีไปเล่นน้ำตกให้สังเกตสีของน้ำ ถ้าน้ำในลำธารเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ขุ่น และไหลแรง ต้องรีบขึ้นจากน้ำ ขึ้นที่สูง และติดต่อเจ้าหน้าที่ทันที เพราะสีน้ำที่ขุ่นเป็นสัญญาณของน้ำป่าไหลหลาก น้ำจะไหลมาอย่างเชี่ยวกราด จนอาจไม่สามารถว่ายน้ำเอาตัวรอดได้
ขอบคุณภาพ : romkaraveak.khaokho, indefinitelywild.gizmodo, mattmatches-flickr, webdesign-freebies.tumblr, indian-mermaid.tumblr, thenational, lovethispic,
paigeseven, tipsfromthedisneydiva, walmart, heyitsfree
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved