ผู้สมัครงาน
ขณะนี้ประชาชนจากทั่วสารทิศจำนวนมาก ได้เดินทางไป จ.ขอนแก่น เพื่อแสดงความอาลัยกับ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หลังจาก ละสังขารเมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งหลวงพ่อคูณ ได้เขียนพินัยกรรม อุทิศสรีระสังขารเพื่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตาม การสูญเสียครั้งนี้ นับเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย พระอริยสงฆ์เอง ก็หนีไม่พ้น
ทั้งนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะพาท่านผู้อ่านย้อนรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การละสังขารของพระเกจิชื่อดัง ที่ประชาชนทั่วประเทศยังคงเลื่อมใสไม่เสื่อมคลายจวบจนทุกวันนี้
เมรุหลวงปู่แหวน
หลวงปู่แหวน พระอริยสงฆ์ที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นชาวจังหวัดเลย เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2430 ขึ้น 3 ค่ำเดือนยี่ ปีกุน ณ บ้านหนองบอน หมู่ 2 ตำบลนาโป่ง อ.เมือง จ.เลย มีนามเดิมว่า "ญาณ" บิดาชื่อ นายใส มารดาชื่อ นางแก้ว อาชีพทำนาและช่างตีเหล็ก มีพี่น้อง 2 คน ซึ่งท่านเป็นคนที่ 2
ในวัย 13 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ตามแนวความคิดของมารดา เมื่อครั้งยังมีชีวิต หลังจากบวช ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "แหวน" ด้วยความมุ่งมั่นในสมณเพศ ท่านสามารถอ่านตำราใบลานได้ทั้งภาษาขอม และภาษาล้านนาจนแตกฉาน เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทในฝ่ายมหานิกาย ที่วัดสร้างถ่อนอก เช่นเดียวกับสมัยตอนเป็นเณร ได้ศึกษาพระธรรมอย่างต่อเนื่องจึงเป็นที่รอบรู้ นอกจากนี้ ยังได้เดินทางธุดงค์ในที่ต่างๆ จนได้พบสหายธรรมมากมาย โดยผู้ที่หลวงปู่แหวนสนิทคือ หลวงปู่ตื้อ อาจลธรรมโมซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้พบกับ อาจารย์มั่น ภูริทัตโต บังเกิดความซาบซึ้งและเสมือนการได้พบทางแห่งธรรมที่แสวงหา
ทำพิธีให้หลวงปู่แหวน
เมื่ออายุประมาณ 33 ปี หลวงปู่แหวนได้พบกับ อาจารย์มั่น อีกครั้ง หลังจากได้เดินธุดงค์ไปประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า และกลับเข้าประเทศไทยทาง จ.แม่ฮ่องสอน ครั้งนี้ หลวงปู่แหวนได้ขอรับเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยมีเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์
นับแต่นั้น หลวงปู่แหวนได้ออกธุดงค์กรรมฐานหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรแถบภาคเหนือ กระทั่งปี 2489 หลวงปู่แหวนได้อาพาธที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด ขณะนั้น ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง จากนั้นได้มาพำนัก ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นต้นมา
กระทั่ง เมื่อเวลา 21.54 น. วันที่ 2 ก.ค.2528 หลวงปู่แหวน ได้มรณภาพ ที่โรงพยาบาลมหาราช จ.เชียงใหม่ สิริอายุรวมได้ 98 ปี 5 เดือน 16 วัน พรรษา 58
อาจารย์หนู หรือ พระครูจิตตวิโส ธนาจารย์ เจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋ง เผยว่า หลวงปู่แหวน เมื่อครั้งยังไม่อาพาธ ได้สั่งเอาไว้ว่า ถ้าหากหลวงปู่แหวนมรณภาพไม่ให้เอาศพเก็บไว้นาน สวดเสร็จก็ให้เผาเลยใน 3 วัน การเก็บไว้นานจะเป็นภาระให้กับลูกศิษย์ และทำให้คนเดือดร้อน อย่างไรก็ดี ได้มีการเก็บสรีระร่างหลวงปู่แหวนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สักการะ
ในขณะที่งานสวดอภิธรรมศพดำเนินไปอยู่นั้น ได้เกิดเรื่องฮือฮาขึ้น เมื่อมีผู้ถ่ายภาพภายในงานกุศลศพหลวงปู่แหวน ได้พบภาพเงาสีขาวคล้ายหลวงปู่แหวน ยืนถือไม้เท้าที่หน้าคณะแพทย์ที่นั่งพนมมือ จนกลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเอิกเกริก นอกจากนี้ เมื่อมีการพิสูจน์ฟิล์ม ก็ไม่พบการแต่งเติม ขณะที่ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวก็ได้ขออัดภาพเพื่อนำไปบูชานับพันรูป
กระทั่ง วันที่ 17 ม.ค.2530 ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่แหวน ซึ่งหากยังมีชีวิต ท่านจะมีอายุครบ 100 ปี กับอีก 1 วัน ซึ่งหากนับรวมวันที่จัดพิธีสงฆ์ ตั้งแต่วันที่ 10-15 ม.ค. พบว่ามีประชาชนร่วมงานอาลัยหลวงปู่แหวนกว่า 5 แสนคน ขณะที่สื่อต่างประเทศก็รายงานบรรยากาศ
ประชาชนแห่เช่าของขลังของ หลวงปู่แหวน
นายชูชีพ ศิลปรัตน์ ประธานฝ่ายปฏิคมมูลนิธิหลวงปู่แหวน ได้เผยกับผู้สื่อข่าวในสมัยนั้นว่า หลังจากรวบรวมอัฐิของหลวงปู่แหวน พบว่ามี 3 ลักษณะ คือเถ้าธุลี อังคาร เป็นอัฐิที่มีลักษณะมันใส และพระธาตุซึ่งมีรูปร่างขนาดเม็ดมะขามใสคล้ายแก้วหลายชิ้น และได้คัดเลือกส่วนที่เป็นพระธาตุ 3 ชิ้น บรรจุในโกศมุก เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มีผู้กล่าวว่า หลวงปู่แหวน สำเร็จพระอรหันต์ เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม และมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ มากมาย ผู้คนจำนวนมากต่างเลื่อมใสพยายามหาวัตถุมงคลที่หลวงปู่แหวนร่วมปลุกเสก ซึ่งเชื่อว่ามีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย สยบสิ่งชั่วร้าย
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ผู้หยั่งรู้นรก สวรรค์ เคยตายแล้วฟื้น 3 ครั้ง
นอกจากหลวงปู่แหวนแล้ว ยังมีเกจิชื่อดังอีกหลายท่านที่มีศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ ให้ความเคารพ หนึ่งในนั้นคือ "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ" หรือ พระราชพรหมญาณ เจ้าอาวาสวัดจันทาราม หรือ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เป็นพระที่มีชื่อเสียงสายวิปัสสนากรรมฐาน เกิดเมื่อประมาณปี 2455 ที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีชื่อเดิมว่า "สังเวียน สังข์สุวรรณ" มีพี่น้อง 5 คน เริ่มบวชที่วัดบางโคนม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนากรภิรมณ์ วัดบานแพน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปาน วัดโคนม เป็นพระคู่สวด เป็นการบวชในฝ่ายมหานิกายแปลง คือ ขอบวชในฝ่ายมหานิกาย แต่คำขอบรรพชาเป็นธรรมยุต และห่มผ้าแบบธรรมยุต ได้รับการถ่ายทอดกรรมฐานจากหลวงพ่อปาน จนมีคาถาอาคมสร้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เคยกล่าวอ้างผ่านความตายมาแล้ว 3 ครั้ง รู้เรื่องนรก สวรรค์เป็นอย่างดี เคยธุดงค์ที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า
สังขารหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ท่านถึงแก่กาลมรณภาพอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 16.10 น. วันที่ 30 ต.ค.2535 สิริอายุได้ 79 ปี หลังจากมีอาการอาพาธหนัก ถูกส่งเข้ารักษาตัวก่อนหน้านั้น 2 วัน ด้วยอาการพบเชื้อไวรัสลงปอดด้านขวา
สำหรับบรรยากาศในวันนั้น นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 31 ต.ค.2535 บรรยายตอนหนึ่งว่า หลังจากทราบการสูญเสียพระอาจารย์ชื่อดัง บรรดาศิษย์ที่อยู่ใกล้เคียง และใน กทม. จำนวนนับพันคน ต่างเดินทางมาคำนับศพจนเนืองแน่นบริเวณหน้าห้องไอซียูคับแคบถนัดตา และยิ่งเพิ่มความโศกเศร้าอาดูรเมื่อเสียงร่ำไห้ดังก้อง รพ.ศิริราช
19.00 น. วันเดียวกัน ลูกศิษย์นำรถบัสขนาดเล็กเพื่อเตรียมบรรทุกร่างหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ซึ่งสภาพที่เห็นของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ร่างทอดบนเปลหาม มองคล้ายจำวัดธรรมดา ลูกศิษย์ช่วยกันยกขึ้นรถ บรรยากาศในช่วงนั้นยิ่งชวนสลด ด้วยว่าเสียงร้องไห้อาลัยอาวรณ์ของลูกศิษย์นับพันคนกระหึ่มพร้อมกัน
พุทธศาสนิกชนแห่งร่วมพิธีศพหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
พระครูปลัดอนันต์ พุทธญาโณ รองเจ้าอาวาสวัดจันทาราม ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อจากหลวงพ่อฤาษีลิงดำ กล่าวในขณะนั้นว่า จะมีพระราชทาน น้ำหลวงสรงศพ โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา นำน้ำพระราชทานสรงศพ จากนั้น จะมีการทำบุญทุกวัน ตลอด 100 วัน จากนั้นจะให้ประชาชนกราบไหว้ โดยไม่มีการเผาตามคำของหลวงพ่อที่ได้สั่งเสียไว้ก่อนมรณภาพ
หลวงปู่ชา พระที่เดินรอยตามพระตถาคต อุทิศตนเผยแผ่พุทธศาสนา
อีก 1 เกจิ ที่ได้ประชาชนทั่วประเทศให้การนับถือ ชื่อเสียงของท่านยังขจรขจายไปยังต่างประเทศด้วย คือ พระโพธิญาณเถร ชา สุภัทโท หรือ "หลวงปู่ชา" เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ตำบลบ้านก่อ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2461 ที่บ้านจิกก่อ ต.ธาตุ จากนั้นได้บวชที่วัดก่อใน ต.ธาตุ เมื่อปี 2482
หลวงปู่ชาถึงแก่มรณภาพ เมื่อเวลา 05.20 น. วันที่ 16 ม.ค.2535 หลังจากที่อาพาธด้วยโรคทางสมองนาน 8 ปี ขณะมรณภาพมีอายุได้ 73 ปี 7 เดือน
ประชาชนจำนวนมากร่วมงานพิธีศพ หลวงปู่ชา
ทั้งนี้ หลวงปู่ชา ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคเยื่อบุสมองอักเสบตั้งแต่ปี 2524 และเมื่อปี 2525 อาการก็ทรุดหนัก หลังจากการผ่าตัดก็ไม่สามารถขยับร่างกายได้ จึงนอนรักษาอยู่ที่กุฏิวัดหนองป่าพง กระทั่งอาการของหลวงปู่เริ่มกำเริบอีกครั้ง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. โรคหัวใจ โรคปอด และโรคไต แทรกซ้อน กระทั่งหลวงปู่ชาได้มรณภาพอย่างสงบ
พิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ชา ถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 16 ม.ค.2536 หรือ อีก 1 ปีต่อมา พิธีการครั้งนั้นใหญ่โตมาก เนื่องจากมีศิษย์ของหลวงปู่ชาจากไทยและต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานกว่า 5 แสนคน โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ
โกศเก็บอัฐิหลวงปู่ชา
ต่อมา วันที่ 18 ม.ค. ได้มีการเก็บอัฐิ โดยทางวัดได้มีมติว่าจะเก็บอัฐิไว้ที่วัดหนองป่าพงที่เดียว ไม่มีการแจกจ่ายอัฐิไปที่ไหน ส่วนภาชนะที่ใช้เก็บนั้น เป็นแก้วคริสตัล สั่งตรงมาจากประเทศอังกฤษ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว สูง 10 นิ้ว ทรงรูปบาตรมีฝาปิด น้ำหนักเกือบ 3 กก. มูลค่า 600 ปอนด์สเตอร์ลิง (ขณะนั้น) ส่วนเถ้าถ่านจะเก็บไว้ในสถูปทรงเจดีย์ฝังมุก 2 องค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสูง 10 นิ้ว สูง 17 นิ้ว
หลวงปู่ชา นับเป็นพระนักปฏิบัติธุดงค์ และเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง และวัดสาขาในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก
พระอริยสงฆ์ทั้ง 3 รูป นับเป็นพระที่สร้างคุณูปการให้กับศาสนาพุทธไว้อย่างมากมาย แม้ท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่คำสอนที่ท่านเคยกล่าวไว้ยังคงเตือนใจแก่ลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนทุกคน
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved