ผู้สมัครงาน
รู้สึกเหมือนความฝันที่เวียนมาบรรจบ เมื่อผมได้มาเจอกับหมู่บ้านอันแสนสงบ เหมือนตอนได้พบ...แม่กำปอง
ตลอดระยะเวลาเศษหนึ่งส่วนสี่ของชีวิตที่หลอมละลายไปกับการเดินทาง ผมเคยพบกับหมู่บ้านที่เหมือนกับหลุดออกมาจากในนิทาน รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นแล้วก็...
“หนึ่งครั้งถ้วน!”
และจากอัตราส่วนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดนี้ บางทีสมาพันธ์ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยอาจจะอยากรวมตัวกันยื่นหนังสือประท้วง ก็ถ้าการขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้านในนิทานมันจะยากขนาดนี้ สู้ไปยื่นขอมาตรฐาน ISO ให้ผ่านจะง่ายกว่ามั้ย???
เอ้า! จริงๆ ท่าบังคับของหมู่บ้านในนิทานก็ไม่เห็นจะต้องการอะไรมากเลย ขอแค่อยู่ในหุบเขา มีลำธารไหลผ่านหมู่บ้าน มีน้ำตกเล็กๆ ที่มีน้องหมาเป็นไกด์ มีชาวบ้านที่ดูพร้อมจะเป็นมิตรกับทุกชีวิตบนโลก มีสวนผลไม้ให้กินฟรีได้ไม่อั้น มีร้านน้ำชาที่ซื้อหนึ่งแถมสาม
เข้าสวนไปเก็บผลไม้กัน
“เฮ้ยยย !! หมู่บ้านแบบนี้ แม่งมีอยู่จริงๆ ในประเทศไทยเหรอวะ”
มีอยู่จริงแหละครับ มีมานานแล้วด้วย แต่เท่าที่รู้ หมู่บ้านนี้เค้าชูเรื่องอากาศบริสุทธิ์ขึ้นมาเป็นจุดขาย แต่เพิ่งมารู้ว่าตรงคอนเซปต์หมู่บ้านในนิทานก็ตอนมาเจอะเข้ากับตัวเอง
ผมได้พบว่า ยังมีเรื่องราวอันเป็นที่สุทธิ์ที่ยังไม่ถูกขุดขึ้นมาพูดอีกสองสามอย่าง และจนถึงตอนนี้ แม้แต่ตัวผมเองก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่า...สิ่งใด คือ ที่สุดของที่สุทธิ์แห่งหมู่บ้านคีรีวง
1. สายน้ำ
จริงๆ จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ มันมาจากภาพภาพเดียว เป็นภาพลำธารในหมู่บ้านคีรีวงของชัยยันณ์ ดำแก้ว กับ วิรัช บริบูรณ์ ที่เด้งขึ้นมาหน้าฟีดบนเพจของผม
สำหรับผม มันคือ ลำธารที่ทำให้นึกย้อนไปถึงบทสนทนากับ บ.ก. นกเขา ครั้งหนึ่งแกเคยบอกผมว่า อยากให้ช่วยหาโลเกชั่นที่มีลำธารสวยๆ ในประเทศไทย หลังจากวันนั้นผมใช้เวลาควานหาอยู่หลายปี โดนยิงตกไปก็หลายครั้ง การเลือกวัตถุดิบอะไรสักอย่างไปขึ้นโต๊ะเพื่อเสิร์ฟมนุษย์สายครีเอทีฟไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ถ้าภาพของคีรีวงไม่สามารถสร้างความประทับใจแรกได้แรงจริง โปรเจกต์นี้ก็คงถูกยิงทิ้งตั้งแต่บนโต๊ะประชุม
วิวแม่น้ำสวยที่สุด อากาศดีที่สุด ต้องมาชมที่คีรีวง
เมื่อวีซ่าผ่าน ผมเลือกที่จะหนีกรุงมุ่งหน้าสู่คีรีวงด้วยตัวคนเดียว เมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพที่เคยหว่านเอาไว้ ช่วยให้อะไรๆ กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะ เมื่อพี่ยันณ์และพี่วิรัช เจ้าของภาพที่เป็นแรงบันดาลใจได้กลายมาเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมในทริปนี้
เช้าวันแรก... ผมถูกหิ้วออกจากโรงแรมในเมืองมาตั้งแต่ตี 4 ไอ้เราก็คิดว่าคีรีวงคงอยู่ไกล แต่เอาเข้าจริงหมู่บ้านคีรีวงนั้นอยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีฯ แค่ 20 กิโลฯ เท่านั้น ซึ่งนับว่าผิดคาดเอามากๆ เพราะใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 20 นาที
เล่นน้ำกันเพลิน
ที่คีรีวง...พี่สองคนบอกว่า มุมซิกเนเจอร์ที่นักท่องเที่ยวชอบไปถ่ายรูปคู่ คือ ‘สะพาน’ แต่ภาพคีรีวงที่ผมวาดเอาไว้ในใจตั้งแต่ก่อนมาถึง ต้องเป็น ‘ลำธาร’ เท่านั้น และเมื่อเข้าใจตรงกัน พี่ยันณ์กับพี่วิรัชเลยลากผมลัดเลาะลงเนินไปยังลำธารที่อยู่ด้านล่าง
ท่ามกลางสายน้ำที่เย็นเฉียบและสองเท้าที่เริ่มชา คีรีวงที่รอคอยกำลังค่อยๆ สว่างขึ้นมาอย่างช้าๆ จะดูขี้โม้ไปมั้ย ถ้าผมอยากบอกว่า สิ่งที่อยู่ตรงหน้า คือ ภาพลำธารซึ่งสวยเกินกว่าที่จินตนาการเอาไว้ซะอีก
เด็กๆ ตักน้ำสาดขึ้นฟ้า พาให้ได้ภาพสวยๆ
ผมเริ่มสังเกตเห็นว่า น้ำที่นี่ใสยังกับกระจก ใสจนมองทะลุลงไปเห็นก้อนหินหน้าตาดีกับฝูงปลาตัวอ้วนพีได้ชัดเจน ด้านข้างของเราเป็นทุ่งหญ้าเขียวๆ มีวัวหลายตัวกำลังเดินแทะเล็มหญ้า ส่วนด้านหน้า คือ ทิวเขาใหญ่ที่มีสายหมอกเอื่อยๆ กำลังไหลผ่าน แถมน้ำในเวลานี้ก็สงบนิ่งซะจนสามารถมองเห็นภาพเงาสะท้อนกลับหัวของภูเขาและสายหมอกฉาบอยู่บนผิวน้ำ แต่สิ่งที่ผมชอบที่สุด คือ ลีลาบางช่วงบางตอนของลำน้ำที่ไหลผ่านร่องหิน มันทำให้ดูเหมือนกับมีน้ำตกเล็กๆ โผล่ขึ้นมาคั่นกลางลำธาร สร้างความแปลกตากว่าที่ไหนๆ
ขอพูดแบบไม่เข้าข้างกัน ผมกล้าสาบานแบบไม่กลัวฟ้าผ่าว่า มันไม่ได้สวยน้อยไปกว่าวิวงามๆ ที่อยู่บนโปสการ์ดตามเมืองนอกเลยนะ คือ ถ้าเป็นอันอื่นอาจจะต้องหาโซดาน้ำมาผสม แต่อันนี้จัดเพียวไปได้แบบสบายๆ
และนอกจากความสวยงามของลำธาร กิจวัตรประจำวันของผู้คนในหมู่บ้านยังมีส่วนช่วยให้ลำธารแห่งนี้ดูมีชีวิต ลองคิดดูสิครับ จะเหลือสักกี่หมู่บ้านในประเทศไทยที่ชีวิตของผู้คนยังดำเนินไปแบบดิบๆ เดิมๆ
งดงามตามท้องเรื่อง ฟินจริงๆ
อย่างเช้าๆ แบบนี้ สักพักเดี๋ยวยายสีกะตาสาจะเดินนุ่งผ้าขาวม้ามาอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน พอสายอีกหน่อย ลุงสมคิดกะป้าสมใจก็คงควงกันมาซักผ้า แล้วพอตกเย็นหลังเลิกเรียน ไอ้ปื๊ดกับไอ้เปี๊ยกจะกอดคอกันไปโดดน้ำ โดยมีเด็กชายมาโนชญ์ตามลงไปดำน้ำยิงปลาอยู่ใกล้ๆ
แน่นอนว่า ผมมีความสุขและเพลิดเพลินกับการเฝ้าดูวิถีชีวิตของผู้คน แต่สิ่งที่ทำให้หัวใจพองโตมากกว่าเดิม คือ การได้รู้ว่า ลำธารแห่งนี้ คือ จุดรองรับสายน้ำที่ต่อตรงลงมาจากยอดเขาหลวง ก่อนจะทำหน้าที่เป็นปอด คัดกรองของเสีย ก่อนจะส่งน้ำดีต่อไปยังเส้นเลือดหลายต่อหลายสาย กระจายไปหล่อเลี้ยงนครศรีธรรมราชทั้งจังหวัด
ถ้าน้ำ คือ ส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้คนเรายังมีลมหายใจ คีรีวงก็มีส่วนในการกำหนดลมหายใจของผู้คนทั้งจังหวัด คีรีวงสำหรับผมจึงไม่ได้เป็นแค่ลำธารอีกต่อไป ถึงตอนนี้มันมีทั้งเรื่องของความเคารพ จิตวิญญาณ และความศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้อง
จริงอยู่ว่า...พี่น้องเมืองคอนนั้นมีความเชื่อที่หลากหลาย แต่ถ้าจะมีสิ่งใดที่พวกเค้าศรัทธาร่วมกัน หนึ่งในนั้นจะมี...คีรีวง...
2. ผู้คน
ถ้าจะมีอะไรอีกสักอย่างที่ผมจะตกหลุมรักคีรีวง นอกเหนือไปจากลำธาร สิ่งนี่นั้นคงจะเป็น ‘ผู้คน’
ปีนป่าย แล้วสอยลงมาใส่ตะกร้า
นึกย้อนไปถึงตอนที่มานครครั้งแรก ด้วยมีหน้าตาที่ดูกวนบาทาเป็นทุน ผมจึงถูกพี่ๆ กำชับให้ระวังตัวมากๆ เวลาออกไปไหนมาไหน โดยเฉพาะ ‘ห้ามมองหน้าวัยรุ่น’ สุ่มสี่สุ่มห้า ด้วยเหตุนี้ ผมเลยติดภาพของนครศรีธรรมราชว่า ‘เป็นเมืองคนดุ’ จนกระทั่งผู้คนที่นี่ทำให้มุมมองที่เคยมีนั้นเปลี่ยนไป
คนแรกที่ผมรู้จัก คือ ‘ยายเคลื่อน’ สาว (เหลือ) น้อยประจำหมู่บ้าน ผู้ที่จะออกมานั่งจุ้มปุ๊กอยู่ริมน้ำในเวลาแปดโมงตรงของทุกวัน และตลอดสองวันที่นั่น ผมก็ไม่พลาดที่จะไปดักรอพบกับแม่เฒ่า ผู้เป็นเหมือนสารานุกรมประจำหมู่บ้าน
“สามสิบกว่าปีที่แล้ว ตรงนี้ไม่ได้เป็นแม่น้ำ แต่เป็นหมู่บ้าน แล้วตอนนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ บ้านช่องนี่หายไปกับน้ำกันหมด มีคนตายจนเป็นข่าวใหญ่โต ชาวบ้านร้องห่มร้องไห้ ลำบากกันไปหมด
แค่เห็น ก็เหมือนได้ยินเสียงหัวเราะสนุกสนานของเด็กๆ แว่วมา
แต่ก็เพราะน้ำท่วมหนนั้นแหละ ที่ทำให้คนจนคนรวยกลับมาเท่ากันหมด ชาวบ้านเริ่มมีความเอื้ออาทรมากขึ้น คนที่ไม่เคยแบ่งปันก็รู้จักแบ่งปัน แล้วมันก็สืบทอดมาเป็นนิสัยจนทุกวันนี้ คนที่นี่เลยมีนิสัยชอบช่วยเหลือ แล้วชาวบ้านก็สามัคคีกันมาก” แม่เฒ่าเล่าย้อนความ
คนที่สองของหมู่บ้านมีชื่อว่า ‘พี่วัน’ พี่สาวคนนี้ คือ คนที่ช่วยรับประกันคำพูดของยายเคลื่อนที่บอกว่า คนที่นี่มีนิสัยชอบแบ่งปันมากแค่ไหน เรื่องกาแฟบ้าอะไรซื้อหนึ่งแถมสามก็มาจากคนนี้แหละ
พี่วันเป็นเจ้าของร้านน้ำชาเล็กๆ ริมลำธาร สนนราคาก็อยู่ที่เศษ 1 ส่วน 5 ของกาแฟแก้วสวยๆ ในเมืองกรุง และถ้าคิดว่าถูกมากแล้ว ลองดูโปรโมชั่นของแถมแกซะก่อน
พี่วันจัดเต็มให้เราทุกวันครับ ทั้งมังคุดเอย ทุเรียนเอย มะม่วงเอย เงาะเอย เฮ้ย !! สะตอก็ยังจะมานะเอย และที่นี่จะมีกฎอยู่ข้อนึงว่าจะเกรงใจแค่ไหนก็ห้ามปฏิเสธ
พี่ ป้า น้า อา ที่นี่ ใจดีทุกคน จัดผลไม้มาให้ชิมจนเกินอิ่ม
“น้องกอล์ฟอย่าไปปฏิเสธนะครับ ถ้าเค้าให้ เราต้องรับเอาไว้ ถ้าเป็นเพื่อนผม ผมก็จัดเต็มให้เหมือนกันครับ คนใต้เราถือเป็นเรื่องใหญ่ เลี้ยงเพื่อนเรามีความสุขครับ” พี่ยันณ์อธิบาย
คนสุดท้ายที่ผมจะเอ่ยถึง เป็นคู่หูดูโอ้ ‘ยายปาน’ กับ ‘เจ้าหนูออมทรัพย์’ คู่นี้บังเอิญสุด เพราะผมโดดลงจากรถแล้วขออนุญาตตีเนียน เดินตามแกเข้าไปถึงสวนผลไม้แบบมึนๆ
ยายปานเองก็คงจะมึน ถึงได้ตอบรับเราแบบงง ๆ แต่พอมาถึงสวน แกรีบเอ่ยปากชวนพวกเราไปที่ต้นมังคุด ก่อนจะโชว์ลีลาปีนบันไดขึ้นไปสอยมังคุดโดยมีเจ้าตัวน้อยคอยเป็นลูกมืออยู่ด้านล่าง ใช้เวลาปีนขึ้นปีนลงต้นนั้นทีต้นนี้ที ทำอยู่ราวชั่วโมงก็ได้มังคุดกลับออกมาสองตะกร้า
พวกเราเดินตามกันกลับออกมาที่บ้าน สองคนนั้นหายเข้าไปด้านใน แล้วกลับออกมาพร้อมชากาแฟและกระติกน้ำร้อน ส่วนเจ้าตัวเล็กเดินตามออกมาพร้อมกับช้อนส้อมจานชามพะรุงพะรัง
ครอบครัวนี้มาซักผ้ากันที่ริมแม่น้ำ
“เอ้า !! ชา กาแฟ ผลไม้ที่เก็บมาก็กินได้ตามสบายเลยนะ ไม่ต้องเกรงใจ แล้ววันหลังถ้าได้มาอีก มานอนนี่ได้เลย” ยายปานเอ่ยปากชวน
“เดี๋ยวพวกพี่กินข้าวบ้านหนูนะ ไม่ต้องเกรงใจ” เจ้าหนูออมทรัพย์ก็เอากับเค้าด้วย
เคยได้ยินที่เค้าบอกคนใต้รักพวกพ้อง แต่ผมเพิ่งใช้เวลาละลายพฤติกรรมกับพวกเค้าแค่ 1-2 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนสถานะจากคนแปลกหน้ามาเป็นลูกเป็นหลานกันได้เร็วเว่อร์
คิดดูสิครับ คนนึงชวนกิน คนนึงชวนนอน คือ ผมรู้สึกได้เลยว่า ทั้งสองคนให้ใจเราแบบเกินร้อย แอบสงสัยในใจลึกๆ ว่า ถ้าเป็นเราบ้างล่ะ...จะให้ใจกับคนแปลกหน้าได้มากขนาดนี้ไหม ?
อาบน้ำในห้องน้ำธรรมชาติ
ผมเริ่มจับทางได้ว่า คนที่นี่คิดตังค์ไม่ค่อยเป็น หนักไปทางชอบให้ เป็นชุมชนที่ถึงจะเปิดให้คนมาเที่ยว แต่ชาวบ้านก็ไม่คิดจะหากินกับนักท่องเที่ยว (เฮ้ย...มันยังไง) หลายครอบครัวเลือกที่จะหารายได้จากสวนผลไม้ประจำตระกูลมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่อเมซิ่งมากๆ สำหรับผม
คงเป็นความโชคดีในความโชคร้าย สายน้ำที่เชี่ยวกรากในวันนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้หมู่บ้านหายไป แต่สายน้ำยังช่วยชะล้างเอาความมืดบอดในหัวใจของผู้คนออกไปเช่นกัน
สิ่งมีค่าที่หลงเหลืออยู่หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น คือ ชาวบ้านที่มีหัวจิตหัวใจอันใสสะอาดและบริสุทธิ์
สายหมอกยามเช้าในแนวป่า อุดมสมบูรณ์จริงๆ
3. อากาศ
ถ้าไม่นับ ภูเขา ลำธาร และผู้คน ในบรรดาสินค้าทั้งหมดของคีรีวง ‘อากาศ’ คือ สินค้าที่ทำการตลาดได้ยากที่สุด ชนิดไปจ้าง เซลส์ ออฟ เดอะ เยียร์ มาช่วยเชียร์ก็ยังยาก
ถึงจะมีกรมอะไรสักอย่างมาทำการตรวจวัดและทำการนั่งยันยืนยันนอนยันแล้วว่า อากาศในหมู่บ้านนี้บริสุทธิ์มากกว่าปกติเป็นสิบๆ เท่า แต่ยังไงซะ คำว่าอากาศดีก็ไม่มีความเป็นรูปธรรม ดูจับต้องไม่ได้โคตรๆ ต่อให้จมูกเทพแค่ไหน สูดดมเข้าไปก็แยกไม่ออก แถมหมู่บ้านอากาศดีในประเทศไทยก็น่าจะมีอีกตั้งเยอะ
ผมเองก็พยายามหาทางช่วยยืนยัน จากความเชื่อที่ว่า ที่ไหนอากาศดีผู้คนก็ต้องมีสุขภาพดี ก็เลยคิดหาวิธีการทำรีเสิร์ชขึ้นมา ด้วยการทายอายุทุกคนในหมู่บ้านที่ผมพูดด้วย
อีกมุมที่เขียวชอุ่มชุ่มชื่นของคีรีวง
ให้ตาย !! เชื่อเถอะว่า ผมทายผิดรวด 100 % คือ มันไม่ได้ใกล้เคียงเลยด้วยซ้ำ ผลสรุปออกมาว่า ชาวบ้านทุกคนโกงอายุ เพราะพรรคพวกแต่ละคนดูเด็กกว่าอายุจริงประมาณ 10 ปี แต่สิ่งที่ผมทำก็คงเป็นได้มากสุดแค่สมมติฐาน
แต่ถ้าลองวิเคราะห์ดูตามความน่าจะเป็น สาเหตุที่คีรีวงเป็นหมู่บ้านที่มีอากาศดี น่าจะเป็นเพราะภูมิประเทศตั้งอยู่ใต้เขาหลวง เลยรับเอาลมหายใจจากยอดเขาซึ่งเป็นป่าดิบชื้นตลอดปีมาแบบเต็มๆ แบบนี้ถ้าอากาศจะดีก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
จริงอยู่...ที่ที่อากาศดีน่ะมีเยอะ แต่ลองถามตัวเองดูสิครับ เราอยากจะฝังตัวอยู่ที่ไหนสักที่ แค่เพราะอากาศดีหรือเปล่า ?
สิ่งที่ผมเชื่อว่า คีรีวงมีเหนือกว่าหมู่บ้านอากาศดีทั่วไป คือ ‘บรรยากาศ’
ทั้งภูเขาที่บริสุทธิ์ ผู้คนที่บริสุทธิ์ และสายน้ำที่บริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมให้หมู่บ้านแห่งนี้ ปล่อยเอาลมหายใจที่บริสุทธิ์ออกมา และกลายเป็นชุมชนที่น่าเดินทางมาพักผ่อนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
แม่น้ำของที่นี่ไม่ลึกมากนะ เด็กๆ เล่นได้สบาย
นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกเสียดายแทน ทั้งๆ ที่คีรีวงเป็นหมู่บ้านแสนสงบที่เหมาะสำหรับคนที่อยากหยุดพักจากการวิ่งไล่ตามอะไรสักอย่าง แต่เพราะคนอาจจะรู้แบบผิวๆ ก็เลยแวะมาแบบผ่านๆ มีน้อยคนที่คิดจะมาฝังตัว ส่วนใหญ่มาเพื่อถ่ายรูปกับมุมซิกเนเจอร์บนสะพาน สูดอากาศที่เค้าว่าบริสุทธิ์ แล้วก็กลับออกไปอย่างน่าเสียดายที่สุด
ถ้านิยามการเดินทางของใครสักคนหมายถึงการ ‘ชาร์จแบตเตอรี่’ ผมอยากเสริมให้ว่า สำหรับคีรีวงมันคือ การ ‘เปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่หมดทั้งก้อน’
และถ้าจะมีสักที่ในประเทศไทยที่ผมจะยอมควักเงินเพื่อซื้ออากาศหายใจ มันก็คงจะมีแค่ที่นี่...
...หมู่บ้านในนิทาน...หมู่บ้านคีรีวง...
ที่มา : หนีกรุงไปปรุงฝัน facebook.com/neekrungmagazine , ไทยรัฐออนไลน์
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved