ผู้สมัครงาน
จากเรื่องราวแสนประทับใจของหนึ่งในผู้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 เรียงร้อยเป็น 9 เรื่องเล่าที่ยังคงติดตรึงอยู่ในหัวใจของชายมุสลิมวัย 72 ปี หรือ ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์ ผู้ที่ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเนิ่นนานถึง 42 ปี
ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านน้ำเสียงแห่งความตื้นตัน ราวกับเพิ่งถวายงานให้แก่พระราชาและพระราชินีเสร็จสิ้นมาหมาดๆ ซึ่งเรื่องราวที่ผู้อ่านจะได้ยลยินนับจากนี้ คือ 9 เหตุการณ์ที่ถูกกลั่นกรองจากหัวใจของ “ล่ามมลายู ประจำพระองค์” ผู้มอบทั้งกายและหัวใจให้แก่พระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีผู้เป็นที่รัก
ท่านสามารถติดตามอ่านตอนที่ 1 ได้ใน “9 เรื่องเล่าสุดประทับใจ ซาบซึ้งน้ำตาไหล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 (ตอน 1)”
ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยความตื่นเต้นไม่น้อย
เรื่องที่ 4 : รถดำน้ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มักเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ บ่อยครั้ง พร้อมพระราชทานแนวพระราชดำริการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมแก่ประชาชนเสมอ ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ก็คือ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอด้วยตัวเองว่า “ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเยี่ยม ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน แต่เส้นทางที่พระองค์เสด็จฯ เกิดเหตุน้ำท่วมจนสะพานขาด เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องมาตลอดทั้งคืน จะข้ามไปอีกฝั่งก็ไม่สามารถทำได้ ไปทางอื่นก็ไม่ได้อีก ในที่สุดทหารก็กราบทูลขอให้พระองค์เสด็จฯ กลับตำหนัก แต่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า วิทยุไปถามสิว่าที่ภูเขาทองมีประชาชนมาหรือยัง”
ช่วงเวลานั้น ราวๆ 10 โมงเช้าเห็นจะได้ ทางภูเขาทองได้วิทยุตอบกลับมาว่า ราษฎรมารอพระเจ้าอยู่หัวเต็มพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดแล้ว
“ท่านเลยรับสั่งว่าอย่างนั้นก็ต้องไป ในเมื่อประชาชนรอเราอยู่ อย่างไรเราก็ต้องไป พร้อมรับสั่งว่าใครไม่กล้าไปก็กลับ แต่ฉันจะไป สักพักหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงวิทยุมาถึงท่านผู้หญิงท่านหนึ่งที่นั่งอยู่บนรถคันเดียวกันกับผม ท่านรับสั่งว่า พี่หญิง พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าให้รถของพี่หญิงลงนำหน้าก่อน ท่านผู้หญิงก็หันมาพูดกับผม คุณดิลก คุณกล้าไหมเนี่ย ได้ยินไหมพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่ง ผมตอบท่านผู้หญิงไปว่า ได้ยินครับ กลัวครับ แต่อย่างไรเราก็ต้องไป” ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยความตื่นเต้นไม่น้อย
“ผมขอใช้คำว่า รถดำน้ำ หัวรถของพระเจ้าอยู่หัวจมน้ำเลย แต่สุดท้ายก็ข้ามฝั่งไปได้ด้วยดี ส่วนรถเล็กๆ ไม่สามารถไปได้ ต้องจอดรอ ผมนับถือพระหทัยของพระองค์ท่านจริงๆ” ว่าที่ร้อยโทดิลก ซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 สุดหัวใจ
ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวให้ทีมข่าวฟังถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เรื่องที่ 5 : ไม่กลัวโจร
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชน ณ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในเวลาประมาณสองทุ่มเศษ ได้มีประชาชนกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างเข้าเฝ้า ว่า เวลานี้พระองค์ควรเสด็จฯ กลับได้แล้ว เพราะหากเวลาล่วงเลยจนดึกดื่นไปกว่านี้ เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย และได้รับอันตรายจากโจรได้
ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์ที่ยังติดตรึงในใจต่ออีกว่า “พระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งว่า ไม่ได้จะมารบกับโจร ฉันจะมาเยี่ยมเยียนประชาชน มาช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะพสกนิกรที่นี่ยากลำบากมาก พร้อมกับหันไปตรัสกับผู้ติดตามว่า หากใครกลัวก็กลับไปก่อน ฉันยังไม่กลับ”
ว่าที่ร้อยโทดิลกจดจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ดี “สักครู่หนึ่ง พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งกับผมว่า คุณดิลกลองไปดูหมอเสียหน่อย ตรวจคนไข้เสร็จหรือยัง ผมไปดูตอนแรกยังมีสิบกว่าคน ก็กลับมากราบทูลท่านว่า ยังมีอีกสิบกว่าคน พอสักพักหนึ่งท่านก็รับสั่งอีก ไปดูสิ เหลืออีกเท่าไร ผมก็ไปดูอีกทีหนึ่ง เหลือสามคน จึงมากราบทูลท่านว่าเหลืออีกสามคน จนหมอตรวจเสร็จเรียบร้อยนั่นแหละ ท่านถึงจะเสด็จฯ กลับ”
ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวให้ทีมข่าวฟังถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกว่า ท่านทรงยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนความสะดวกสบายนั้น ไม่ใช่สิ่งสำคัญของท่านเลย แต่ความสุขของประชาชนต่างหากเล่า อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อีกทั้งท่านไม่เคยกลัวดึกดื่นเที่ยงคืน และยังเสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่างๆ พร้อมทรงงานในเวลากลางคืนเป็นประจำ
“สมัยก่อนไม่มีโทรทัศน์ จึงทำให้ชาวไทยมุสลิมภาคใต้ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์เท่าใดนัก ซึ่งครั้งแรกๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนที่นี่ไม่รู้ว่า ใครคือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ใครคือผู้ติดตาม เพราะท่านทรงแต่งตัวเฉกเช่นเดียวกับผู้ติดตาม ไร้ความหรูหราปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตอนหลังประชาชนเห็นท่านทรงงาน จึงดูออก”ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน
ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งเก่าก่อนอย่างจำได้ดี
เรื่องที่ 6 : เห็นใจประชาชน
ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยเสด็จออกจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ในเวลา 9 โมงเช้า ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปทางอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มุ่งหน้าไปยังอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ก็เป็นเวลาเที่ยงวันแล้ว และกว่าจะเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรเสร็จ ก็กินเวลายาวนานไปจนถึงมืดค่ำ
ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งเก่าก่อนอย่างจำได้ดีว่า “ออกจากอำเภอเบตง ประมาณ 2 ทุ่ม มุ่งหน้ากลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ตามเส้นทางเดิม ประชาชนก็ฉลาด ถามทหารที่อยู่ริมถนนว่า พระองค์ท่านจะเสด็จฯ กลับทางเดิมไหม ทหารก็ตอบชาวบ้านว่า ก็ต้องกลับทางเดิมน่ะสิ ทีนี้ประชาชนจึงมานั่งรอ ยืนรอเป็นระยะๆ”
ตลอดระยะทางจาก อ.เบตง ไป อ.รือเสาะ เสด็จฯ ผ่านภูเขาที่มีโจรชุกชุม จุดบอด จุดมืดอันตรายมาโดยตลอดแต่พระองค์ก็ยังมีรับสั่งให้จอดรถ เพื่อลงไปทักทายกับชาวบ้านที่มารอรับเสด็จ
“คืนนั้นทั้งคืน ทรงนั่งประทับรถทักทายประชาชนตลอดเส้นทาง และพระองค์ท่านก็ยังรับสั่งว่า เมื่อเห็นประชาชนมารอจนดึกดื่น แล้วจะให้ไปได้อย่างไร ขาอ่อนเลย สงสารชาวบ้าน พร้อมพระราชทานสิ่งของที่ยังพอมีติดขบวนเสด็จฯ ตอนดึกๆ พระราชทานถุงของขวัญ ผ้าขนหนู เงินค่าเบี้ยยังชีพ ให้กำลังใจ พระองค์ท่านทรงงานทั้งกลางวันกลางคืน ไม่สนพระทัยเรื่องการบรรทมหรือการเสวย อยู่กลางป่ากลางเขา ตอนนั้นจะเสวยก็เสวยไม่ได้ เพราะของที่ติดมาเล็กๆ น้อยๆ หมดไปแล้ว ณ เวลานั้น แม้จะดึกดื่นค่อนคืน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ นับเป็นภาพที่ประทับใจของผมมาก ท่านเป็นในหลวงที่รักประชาชนจริงๆ” ว่าที่ร้อยโทดิลก กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชนตลอดสองข้างทางตลอดทั้งคืน จึงทำให้เสด็จฯ กลับถึงพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในเช้าตี 5 ของวันรุ่งขึ้น
ติดตามเรื่องเล่าสุดแสนประทับใจของ “ล่ามประจำพระองค์” ในตอนที่ 7 ถึง 9 ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved