ผู้สมัครงาน
“ประเทศไทย”...มีการนำเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์และรังสีมาใช้งาน 50-60 ปีแล้ว การนำมาใช้ก็ต้องมีการกำกับดูแล การตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่า...ทุกอย่างเป็นไปด้วยความปลอดภัย
กิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) บอกว่า เรื่อง “นิวเคลียร์”...“รังสี” เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็อาจมีโทษได้ จำเป็นต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบ เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชน...ผู้ใช้งานว่าทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐาน แล้วก็ปลอดภัย
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำหน้าที่ในการกำกับดูแลในส่วนนี้ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
เพื่อให้แน่ใจว่า... “ทุกกิจกรรมที่นำเอานิวเคลียร์มาใช้ในประเทศไทย มีการดูแล”
ขั้นตอนการดูแลเริ่มจากเรามีกฎหมาย มี พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ออกมาเป็นกฎหมายแม่บทในการใช้กำกับดูแล เริ่มต้นตั้งแต่ใครก็ตามนำเอาสารกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์มาใช้ในประเทศไทย ต้องมีการขออนุญาตนำเข้า ครอบครอง ใช้ก็ต้องขออนุญาต ใช้เสร็จจะส่งออก...ไม่ใช้งานแล้วก็ต้องขอ
นอกเหนือจากการกำกับดูแลตามกฎหมายแล้ว ยังมีอีกบทบาทหลักที่สำคัญที่ต้องกล่าวถึง นั่นก็คือ “การเฝ้าระวัง” เป็นภารกิจหลักที่สำนักงานฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
เฝ้าระวังอันดับแรก...ก็คือ เฝ้าระวังในสิ่งแวดล้อม มากับ...“อากาศ” มากับ...“น้ำ”
หมายถึงว่า กัมมันตภาพรังสี ซึ่งอาจจะปนเปื้อนจากในประเทศหรือจากต่างประเทศก็ได้ อย่างกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล หรือที่...ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เกิดที่ประเทศนี้อาจจะแผ่มาเมืองไทย จะต้องมีระบบในการเฝ้าระวังเพื่อที่จะเตือนคนในประเทศไทยเราว่า...ตอนนี้แผ่มาถึงหรือยัง
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้จัดตั้งสถานีเฝ้าระวังตามจังหวัดต่างๆ ตอนนี้มีอยู่ 17 สถานีบนบก กับอีก 3 สถานีใต้น้ำ เพื่อวัด...ส่งข้อมูลมาที่สำนักงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แล้วก็มีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์อยู่
ณ จังหวัดนี้ สถานีนี้...ระดับรังสีเป็นอย่างไร ถ้ามีการเตือนก็รีบตรวจสอบ
อีกกรณีที่ไม่ได้มาทางสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนมากับ “สินค้า” ... “คน” พกพาเข้ามา...อาจมีทั้งผู้หวังดี ผู้ไม่หวังดี สินค้าก็จะมีตามด่าน...ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ด่านตามแนวชายแดน จะต้องมีระบบการเฝ้าระวัง ตรวจสอบรัดกุมเช่นกัน ที่ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วได้ขอความร่วมมือกับกรมศุลกากร จะมีเครื่องเอกซเรย์ มีอุปกรณ์ในการตรวจสอบวัดรังสีที่มีความไวพอในการตรวจจับพ่วงมาด้วย
“...มากับสินค้ากับคน ถ้ามีใบอนุญาตถูกต้องจากต้นทางถึงปลายทางไม่มีปัญหาแน่นอน สมมติว่า เครื่องเอกซเรย์ตรวจสอบแล้วแจ้งเตือน หมายถึงว่า...มีรังสี เจ้าหน้าที่ก็ต้องเช็กว่ามีใบอนุญาตไหม...ถ้ามีก็ผ่านได้ ถ้าไม่มีก็ต้องกักเอาไว้ก่อน...มันคืออะไรอยู่ข้างใน นี่คือมาตรการที่ทำเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า”
ในระยะต่อไป จะต้องขอความร่วมมือกับทางท่าอากาศยานในการที่จะสแกนสนามบินด้วย กำลังคุยกันอยู่ระหว่างสนามบินหลักๆ ว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับรังสี
“สนามบินค่อนข้างเป็นจุดที่มีปัญหา คนเยอะมาก จะดำเนินการตรวจสอบกันแบบไหนก็ต้องมานั่งคุยกันในรายละเอียดอีกทีหนึ่ง เรื่องเทคนิคไม่มีปัญหา...แต่มีปัญหาในขั้นตอนกระบวนการทำงานว่าจะทำกันอย่างไร”
ยกตัวอย่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง” ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ติดตั้งอุปกรณ์อย่างสมบูรณ์แบบ ตู้สินค้าทุกตู้ที่วิ่งผ่านเข้ามาทั้งส่งออก...นำเข้าจะได้รับการตรวจสอบเรียบร้อย เป็นต้นแบบที่มั่นใจได้
วันนี้เราต้องรีบทำ เพราะประตูการค้าเสรีอาเซียน หรือ “เออีซี” กำลังจะเปิดแล้ว สินค้า...คน ก็จะทะลักเข้ามาอีกมหาศาล ปัญหามีว่า...เราก็ไม่รู้ว่าสินค้าที่เข้ามาจะมีอะไรหรือเปล่า?
“ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ คุยกับอธิบดีกรมศุลกากร เซ็นเอ็มโอยูกันเรียบร้อยแล้วจะมีมาตรการร่วมกัน เพื่อปกป้องประเทศไทย...ไม่ให้มีการลักลอบสิ่งอันตรายเหล่านี้เข้ามา”
ข้อกังวล “อาหารฉายรังสี” ไม่ต้องกลัว ไม่มีการปนเปื้อนแน่นอน จะมีก็อย่างเดียวเท่านั้นก็คือกรณีเกิดอุบัติเหตุอย่างที่ฟูกูชิมะ...เชอร์โนบิล อาจจะมีการปนเปื้อนฟุ้งกระจายมากับข้าว หากนำเข้ามาก็ต้องตรวจสอบได้
หลายคนอาจจะคิดว่า...วันนี้ยังห่างไกล แต่ในอนาคตหากประเทศเพื่อนบ้านสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น...ต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง รองรับอย่างเป็นระบบ
กิตติศักดิ์ ย้ำว่า ตอนนี้เรามีหน่วยงานหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วถ้าไปเกิดเหตุอยู่แถวภาคอีสาน ภาคเหนือ...เชียงใหม่แล้วจะทำยังไง...ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์ประจำภูมิภาค” ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก ปส.ก็จะส่งทีมงานเข้าไปฝังตัวอยู่ในศูนย์เหล่านี้ เพื่อเตรียมความพร้อมกรณีเกิดเหตุ
“อยู่ประจำศูนย์ภูมิภาคแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที...เราอยากจะมีแผนมาตรการรองรับทุกจังหวัด แต่ปัญหาเราไม่ใช่หน่วยงานใหญ่ คงทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องหาพันธมิตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ มีทุกจังหวัดอยู่แล้ว...เราก็จะส่งคนเข้าไปอบรม ถ้าเกิดเหตุจะทำอย่างไร เป็นลำดับขั้นตอน ให้เป็นหน่วยหน้าเวลาเกิดเหตุ... ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่ที่เขาก็ไม่คุ้นเหมือนกัน”
ถึงวันนี้ฝึกอบรมไปหลายจังหวัด เกือบจะทั่วแล้ว สำหรับประชาชนทั่วไป...ก็จะมีฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ส่งข้อมูลความคืบหน้าในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหว...
ประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร ไม่ให้...ตื่นตระหนกตามกระแสข่าวลือ
“ปีหน้า...เรากังวลกันมาก อาจจะมีการลักลอบนำเข้า มีอะไรทะลักทลายเข้ามามากกว่าปัจจุบันเยอะแยะ เราต้องตรวจสอบ ป้องกันประเทศเราให้ปลอดภัยให้ได้ไม่ให้มีปัญหาเรื่องนิวเคลียร์รังสี”
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศเวียดนามตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์...ใกล้ตัวเราขึ้นมาอีก เราจะต้องพร้อมที่จะปกป้องประชาชนของเรา หากเกิดอะไรขึ้นเราต้องมีแผนรับมือ เตือนประชาชนของเราให้ได้
“นิวเคลียร์” ในชีวิตประจำวันมีมากมาย ยกตัวอย่างในโรงพยาบาลนอกจากแผนกเอกซเรย์ก็ยังมีแผนกรังสีรักษา ที่ใช้รักษามะเร็งก็ใช้วัสดุกัมมันตรังสี...แผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ใช้สารกัมมันตรังสีฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อไปวินิจฉัย...รักษาโรค ในโรงงานอุตสาหกรรม ก็เอาไปใช้กับหอกลั่นโรงกลั่น ...โรงงานฉายรังสีอาหารก็ใช้ค่อนข้างเยอะ ในประเทศไทยมี 6-7 แห่ง...ฉายฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์...ยาสมุนไพร ด้านการเกษตรก็ใช้นานแล้ว ฯลฯ
ต้องย้ำว่า...ทั้งหมดเหล่านี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีหน้าที่ไปกำกับดูแล ก่อนตั้งก็ต้องขออนุญาต โครงสร้างเหมาะสม...ปลอดภัยหรือเปล่า ทุกอย่างต้องพร้อมมีแผนฉุกเฉิน ดำเนินการไปแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆตามความเสี่ยง...พบเห็นอะไรก็ต้องปรับปรุงแก้ไข จะได้ไม่เกิดเรื่องร้ายๆขึ้นมา
ประชาชนทั่วไปไม่น้อยอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะน่ากลัวตรงไหน ก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าไปถามเด็กๆก็จะนึกถึง “ระเบิดปรมาณู”...อ่านเจอในหนังสือเรียนจะฝังใจว่า “อันตราย”...แทนที่จะกลับด้านเอาประโยชน์มาก่อน ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เยอะ
“ในร่างกายคนเราก็มีรังสี...อาหารบางอย่างก็มีสารกัมมันตรังสีปะปนอยู่เหมือนกัน อย่างกล้วยหอมธรรมชาติก็มีสารกัมมันตรังสีอยู่ข้างใน...ไม่ต้องกลัว เราต้องสร้างความเชื่อมั่น...เมื่อนำรังสีมาใช้งานนอกเหนือจากธรรมชาติ มีความปลอดภัยเพียงพอ...ได้รับการป้องกัน เพื่อการใช้อย่างมั่นใจปลอดภัย”
กิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวทิ้งท้าย.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved