ผู้สมัครงาน
ขึ้นชื่อว่า "มิจฉาชีพ" เทคโนโลยีก้าวล้ำแค่ไหนก็ตามจนทัน และเล่ห์กลของมิจฉาชีพก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพราะล่าสุด มีผู้เสียหายหลายราย เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม จู่ๆ เงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารกลับอันตรธานหายไป โดยไม่ทราบสาเหตุ! ...
ไม่ได้เผชิญหน้ากับโจร หรือคนแปลกหน้า แต่เจอกับเครื่องสกิมเมอร์ เครื่องมือของเหล่ามิจฉาชีพในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาแม้มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อ ไม่รู้กี่คนต่อกี่คน ออกข่าวทางสื่อ พร้อมการย้ำเตือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางธนาคาร แต่ไม่วาย มีผู้ต้องเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำอีก
นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดการป้องกันอาชญากรรมทางการเงินและความปลอดภัย ธ.ไทยพาณิชย์
แก๊งสกิมเมอร์ ไม่เพียงแต่จะสร้างความเดือดร้อนแก่ลูกค้า ผู้ใช้บริการ สร้างความเดือดร้อนแก่ธนาคารเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางด้านความปลอดภัย เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดย 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ได้พุ่งตรงไปยัง "นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข" รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดการป้องกันอาชญากรรมทางการเงินและความปลอดภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มาไขข้อข้องใจ ถึงกระบวนการสกิมเมอร์ อย่างละเอียด เพื่อเป็นแนวทางป้องกัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ !!
เร่ิมจากกระบวนการที่คนร้าย ต้องการข้อมูลในแถบแม่เหล็ก ของบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเครดิตของลูกค้า รวมทั้งรหัสบัตร โดยคนร้ายจะเอาเครื่องมืออุปกรณ์ ที่เรียกว่า"สกิมเมอร์" ไปติดหน้าตู้เอทีเอ็ม ตรงช่องสอดบัตร ทำให้เมื่อเสียบบัตรแล้วข้อมูลจะถูกดึงออกไปทันที ต่อมา คนร้ายจะพยายามให้ได้มาซึ่งรหัสบัตร อาจจะใช้วิธีการติดกล้องที่เป็นกล้องรูเข็ม จะติดตรงส่วนใดของตู้เอทีเอ็มก็ได้ที่ลูกค้าไม่สังเกตเห็น และอีกวิธีคือ ทำแป้นพิมพ์ปลอม เมื่อกดแป้นพิมพ์ รหัสที่ถูกกดจะถูกเก็บข้อมูลทันที หลังจากที่คนร้ายได้ข้อมูลทั้งแถบแม่เหล็กและรหัสแล้ว จะนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วน ไปทำบัตรปลอม และนำไปใช้กับตู้เอทีเอ็ม
อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ แต่สร้างความเสียหายต่อผู้อื่นเป็นจำนวนมาก
หนึ่งในอุปกรณ์ของแก๊งสกิมเมอร์
ป่วนตู้เอทีเอ็ม ผู้เสียหายสูญเงินสูงสุดหลักแสน!
สำหรับแก๊งสกิมเมอร์ ที่เข้ามาก่อเหตุในไทย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เพราะการจับกุมจะยากขึ้น โดยส่วนใหญ่ จะเป็นคนร้ายจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาติดต่อทำกับคนร้ายซึ่งเป็นคนไทย จะมีคนไทยร่วมในกระบวนการด้วย และเมื่อรวบรวบสถิติผู้เสียหายในปีนี้ ที่โดนสกิมมิ่งเล่นงาน พบว่า จังหวัดขอนแก่น มีผู้เสียหาย จำนวน 12 ราย เฉลี่ย สูญเงินหลักหมื่น มี 1 ราย สูงสุด สูญเงินหลักแสน ขณะที่ ความเสียหายของผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มทั่วประเทศ จากทุกธนาคาร รวมแล้วไม่เกิน 20 ล้าน ซึ่งไม่สามารถระบุเป็นจำนวนได้แน่ชัด
นายพงษ์สิทธิ์ ระบุด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและทุกธนาคาร มีขั้นตอนในการที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นชิพ ซึ่ง ณ วันนี้ ยังปลอดภัยอยู่ เนื่องจาก กระบวนการนี้คนร้ายยัง ก๊อบปี้ชิพไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเอาถูกนำไปใช้ในลักษณะเป็นชิพจึงทำได้ยาก แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าอนาคตจะปลอดภัยหรือไม่?
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนเป็นชิพไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีขั้นตอนเยอะ ทั้งขั้นตอนการเปลี่ยนบัตรให้ลูกค้า ซึ่งทั้งประเทศมีอยู่กว่า 20 ล้านใบ ขั้นตอนในการเปลี่ยนตู้ ATM ซึ่งมีอยู่กว่า 7 หมื่นตู้ทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยน เบื้องต้น ทุกธนาคาร ทุกตู้เอทีเอ็ม น่าจะเกิน 4 พันล้านบาท เพราะฉะนั้น กระบวนการในการทั้งเปลี่ยนบัตรให้ลูกค้า ทั้งเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มจากที่อ่านแถบแม่เหล็ก เป็นอ่านชิพ จึงใช้ทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาพอสมควร คาดว่า สิ้นปี 2559 จึงน่าจะปรับได้ทั้งหมด
หลายคนคงเกิดข้อสงสัย 'วัวหายล้อมคอก' ทำไมถึงรอให้โจรกรรมเกิดขึ้นก่อน จึงคิดป้องกัน!? ทั้งนี้ นายพงษ์สิทธิ์ กล่าวกับทีมข่าวว่า หากธนาคารทำการป้องกันล่วงหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้า ในขณะเดียวกัน การป้องกันก่อนการเกิดการเสียหาย จะทำได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่าความเสียหายจะอยู่ตรงไหน
เปิดวิธีรับมือสกิมเมอร์ โจรยุคดิจิตอล
การป้องกันเบื้องต้น ก่อนตกเป็นเหยื่อ เริ่มจากรหัสผ่านของบัตรเอทีเอ็ม ควรเป็นรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา ไม่ควรจดรหัสผ่านไว้ในที่ที่ผู้อื่นสามารถเข้าถึงได้ เก็บรักษารหัสผ่านต้องเป็นความลับ และไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินแก่ผู้อื่นสิ่งสำคัญที่ใครหลายคนอาจมองข้าม! ควรเปลี่ยนรหัสอย่างน้อยทุก 3 เดือนหรือบ่อยกว่า ส่วนการใช้งานบัตรเอทีเอ็มนั้น ควรใช้มือปิดบังไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นแป้นกดขณะที่กำลังกดรหัสผ่าน ซึ่งเป็นวิธีพื้นฐานนั่นเอง นอกจากนี้ อย่าลืม!! เก็บใบบันทึกรายการทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบยอดการใช้จ่าย และหมั่นตรวจสอบรายการใช้จ่ายหรือยอดเงินอย่างสม่ำเสมอ หากมีรายการผิดปกติ ให้แจ้งธนาคาร หรือบริษัทผู้ออกบัตรเพื่อตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขทันที
ตู้เอทีเอ็มโดยปกติ เครื่องสอดบัตรจะแน่นหนา ขยับอย่างไรก็ไม่หลุด!
ส่วนวิธีสังเกตความผิดปกติแบบง่ายๆ ผู้ใช้บริการ ควรลองขยับช่องสอดบัตรว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ถ้าหลุดติดมือ หรือไม่แน่นพอ ให้คิดไว้เลยว่ามีเครื่องสกิมเมอร์ เพราะโดยปกติเครื่องสอดบัตรจะแน่นหนา ขยับอย่างไรก็ไม่หลุด ส่วนอีกวิธีที่สังเกตง่ายๆ คือ แป้นกดรหัส ถ้าเป็นแป้นปลอม ส่วนใหญ่จะมีความหนา แป้นสูงนูนขึ้นมา ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยง นอกจากนี้ ลูกค้าอาจจะใช้ความระมัดระวังในการเลือกสถานที่ในการกดตู้เอทีเอ็ม เช่น ตู้เอทีเอ็มที่อยู่หน้าสาขาของธนาคารเอง จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ กรณีนี้ คนร้ายจะนำเครื่องไปติดได้ยาก เป็นต้น
การดูแลความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของธนาคาร รวมทั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรายการตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน หากเกิดความผิดปกติ หรือมีรายการที่พบการทุจริต เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อให้ลูกค้าทราบ พร้อมดูแลคืนเงินไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทางธนาคารจะไม่มีการไม่ผลักภาระการดูแลแน่นอน
"ลูกค้าทุกท่านอย่ากังวล ธนาคารจะดูแลรับผิดชอบ ดูแลความเสียหายให้ ดูแลเกี่ยวกับเรื่อง การป้องกันความปลอดภัย ลูกค้าจะไม่สะดวกอย่างเดียว คือ เมื่อเกิดเรื่องแล้ว ต้องไปเปลี่ยนบัตรใหม่เท่านั้นเอง ลูกค้าเพียงระมัดระวังตามสมควร ใช้จ่ายปกติ ใช้ชีวิตตามปกติ อย่ากังวล ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าในกรณีที่เห็นความผิดปกติ ผิดสังเกต แจ้ง call center ได้เลย ติดต่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้เลย" นายพงษ์สิทธิ์ กล่าว
เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ความรู้ด้านเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด สร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และหากในอนาคต แก๊งสกิมเมอร์หายไป ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าจะมีวิธีโจรกรรมแบบใหม่แบบใด ขึ้นมาท้าทายตำรวจไทยอีก แต่สิ่งที่ประชาชนทำได้ คือ หมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดีที่สุดเท่านั้น.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved