พนักงานป่วยก็ต้องมีรายได้ ค่าจ้างเมื่อลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด

  • 23 พ.ค. 2566
  • 54021
หางาน,สมัครงาน,งาน,พนักงานป่วยก็ต้องมีรายได้ ค่าจ้างเมื่อลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด

มนุษย์เงินเดือนหลายคน อาจเข้าใจเรื่องการลาป่วยว่า  1 ปี ลาป่วยได้แค่ 30 วันเท่านั้น แล้วถ้าป่วยเกิน 30 วันล่ะ เราจะมีรายได้จากทางไหน  ? วันนี้ JOBBKK.COM  ขอนำคำตอบเรื่องค่าจ้างเมื่อลาป่วยตามที่กฎหมายการประกันสังคมกำหนดมาฝากดังนี้ครับ

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 57 มีท่อนนึงกล่าวว่า “บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานในวันที่ลาป่วยเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาป่วย แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวัน”  อาจเป็นที่มาของเลข 30 วัน แต่จริงๆ แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 32 ระบุว่า “ให้พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง”  หมายความว่า หากเราป่วย 10 วันก็ลาได้ 10 วัน หากเราป่วย 100 วันก็ลาได้ 100 วันเช่นกัน เพียงแต่ว่า การประกันสังคม (ตามมาตรา 57) หากลาป่วยเกิน 30 วันใน 1 ปี เราจะได้รับค่าจ้างจากบริษัทแค่ 30 วันเท่านั้น เพื่อไม่ให้บริษัทต้องรับภาระมากเกินไป และการลาป่วยติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป บริษัทก็สามารถขอดูใบรับรองแพทย์ได้อีกด้วย

แต่เมื่อลาป่วยเกิน 30 วัน พนักงานในฐานะที่เป็นผู้ประกันตน สามารถเบิกเงินที่เรียกว่า  “เงินชดเชยการขาดรายได้” จากประกันสังคม ซึ่งจะได้รับเงิน 50% ของรายได้ เบิกได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และ ปีหนึ่งไม่เกิน 180 วัน

 

ยกเว้นกรณีป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่อไปนี้  (ต้องยื่นเรื่องขอมติคณะกรรมการการแพทย์  ซึ่งจะเบิกได้ไม่เกิน 365 วัน )

1.มะเร็ง

2.ไตวายเรื้อรัง,

3.HIV

4.โรคหรืออาการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต

5.ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน

6.โรคอื่นๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกิน 180 วัน

 

สรุปง่ายๆ คือ การลาป่วยใน 30 วันแรก บริษัทต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้พนักงาน แต่หากเกิน 30 วัน สามารถเบิก“เงินชดเชยการขาดรายได้”  จากประกันสังคม โดยจะเบิกกี่ครั้งก็ได้ แต่ครั้งหนึ่งเบิกได้เท่าที่ป่วยจริงแต่ไม่เกิน 90 วัน และใน 1 ปีจะเบิกได้ไม่เกิน 180 วัน

 

เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอ

1.  แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01) (ดาวน์โหลดได้ที่ www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=811 หรือขอรับที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน)

2.  ใบรับรองแพทย์  

3.  หนังสือรับรองจากนายจ้าง

4.  สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้  

5.  สถิติวันลาของผู้ยื่นคำขอ

6.  หลักฐานอื่นๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา

7.  สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อ–เลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) มี 11 ธนาคาร ดังนี้

   1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  

   2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)    

   3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

   4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  

   5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

   6) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

   7) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)  

   8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  

   9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)  

  10) ธนาคารออมสิน (อยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)

  11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (อยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)

 

JOBBKK.COM หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ได้นำเสนอนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนและสามารถนำไปใช้รักษาสิทธิ์ที่พึงได้นะครับ

 

ขอบคุณข้อมูล  :   www.sso.go.th

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top