ผู้สมัครงาน
หลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสหลายคราวในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเทคนิคการสัมภาษณ์กับผู้เข้าร่วมเรียนรู้หลายรุ่น หลายระดับตำแหน่งและหลายประสบการณ์ ประมวลประกอบประสบการณ์ทำงานของตนเองทั้งในงานวิทยากรและงานประจำนั้น ผมได้ข้อคิดและบทเรียนหลายอย่างจากการทำหน้าที่สัมภาษณ์เองและการบริหารงานสัมภาษณ์บุคลากรขององค์กรที่อยากนำมาแชร์ท่านผู้อ่านที่ทำงาน Recruitment กันสักเล็กน้อย มาติดตามกันเลยครับ
1.ความประทับใจนั้นเรื่องใหญ่ : ผมเรียนรู้ว่าผู้สมัครงานที่มาสมัคร หรือบางท่านที่เข้ารับการสัมภาษณ์กับองค์กรนั้นเป็น “ใคร (somebody)” ที่ควรค่าแก่การที่เราจะต้องใส่ใจ ดูแลระหว่างกระบวนการสรรหาและสัมภาษณ์ ซึ่ง Recruiter จำนวนไม่น้อยที่อาจจะแอบคิดประมาณว่าผู้สมัครงานมาขอเราทำงาน และเราเป็นพนักงานที่อยู่ “เหนือกว่า” แล้วจะ “ดูดีกว่า” จึงไม่สู้จะให้เกียรติกับผู้สมัครงานมากนัก แต่ผมคิดว่าผู้สมัครงานก็เป็นลูกค้าภายนอกที่มาติดต่อกับเรา ในฐานะที่เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ชื่อเสียงขององค์กรที่เราสังกัด จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะปฏิบัติในทางที่ไม่ให้เกียรติกับผู้สมัครงาน แม้ว่าผู้สมัครงานจะมาสมัครในตำแหน่งเพียงระดับปฏิบัติการหรือคนงานในไลน์การผลิตก็ตามแต่
และการสร้างความประทับใจผู้สมัครงานนั้น ก็เริ่มต้นตั้งแต่การโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การนัดหมายสัมภาษณ์ และการต้อนรับขับสู้กันเมื่อผู้สมัครมาเข้าสัมภาษณ์ตามวันและเวลาที่กำหนด
อีกอย่างนั้น ผมเชื่อเสมอว่าผู้สมัครงานในวันนี้ แม้จะไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาสมัครหรือมาร่วมงาน ก็ไม่ได้หมายความว่า วันข้างหน้าเราจะไม่มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับเขาไปเสียเลย เพราะวันหน้าเขาอาจจะเป็นลูกค้าที่มีอำนาจตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราก็ได้ แต่ที่แน่นอนกว่าก็คือการให้เกียรติ ย่อมทำให้องค์กรของเรามีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของผู้สมัคร จึงไม่เสียหายอะไรที่เราจะพยายามสร้างความประทับใจให้กับผู้สมัครงาน
2.มุ่งหาผู้สมัครที่ยังไม่อยากเปลี่ยนงาน (Passive Candidate / Blind Job Seeker) : ในตลาดแรงงาน มักจะมีคนทำงานไม่ว่าจะระดับปฏิบัติการและผู้บริหารจำนวนมากที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการและยังทำงานอยู่กับอีกองค์กรหนึ่ง และเป็นผู้ที่ไม่ได้แสดงความประสงค์จะสมัครงานกับองค์กรของเรา หรือว่าต้องการเปลี่ยนงานไปทำงานกับองค์กรอื่น ซึ่งหากมองในทางหนึ่ง คนทำงานลักษณะนี้ล่ะครับ ที่องค์กรชั้นนำหลายแห่งอยาก invite เข้ามาร่วมงาน เพราะคนที่ยังทำงานกับองค์กรใดอยู่นั้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเครื่องช่วยบอกว่า เขายังเป็นที่ต้องการขององค์กรนั้น แม้ว่าเขาอาจจะเก่งมากหรือผลงานปานกลางก็ตาม
HR เราจึงจำเป็นต้องทำหลายอย่างเพื่อให้เข้าถึงผู้สมัครงานกลุ่มนี้ให้ได้ เช่น การสร้างเครือข่ายเชิงวิชาชีพ การพบปะหรือสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่อขอประกาศรับสมัครผู้ร่วมงาน รวมไปถึงขอคำแนะนำจากอาจารย์ผู้สอนที่ย่อมจะใกล้ชิดลูกศิษย์และอาจจะพอทราบว่าลูกศิษย์มีความสนใจที่จะเปลี่ยนงานหรือไม่ ซึ่งจะเป็นแหล่งหนึ่งที่แนะนำผู้สมัครงานที่ใช่เข้ามาสู่องค์กรเราได้
3.สื่อสารให้ผู้บังคับบัญชาเห็นคุณค่าและความสำคัญของการสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ มาถึงวันนี้แล้ว ผมเชื่อว่าผู้บริหารองค์กรระดับต่าง ๆ เริ่มเล็งเห็นความสำคัญแล้วว่าการสรรหาบุคลากรให้ได้คนที่ใช่ ตั้งแต่ต้นทางนั้นเป็นสิ่งที่จะการันตีผลการดำเนินงานขององค์กร และลดปัญหาการทำงานของพนักงานได้อย่างมาก ผู้บริหารขององค์กรทั้งหลายจึงเริ่มถ่ายทอดนโยบายการให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์อย่างเป็นลำดับ และสำหรับผมเองที่นับว่าเป็นวิทยากรมือใหม่ในด้านการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรม ก็มีงานฝึกอบรมขององค์กรจำนวนไม่น้อยในแต่ละเดือน
ดังนั้น HR จึงควรเสนอเรื่องการจัดฝึกอบรมเทคนิคการสัมภาษณ์ให้กับบุคลากรระดับบังคับบัญชาที่เป็นผู้มีอำนาจสัมภาษณ์เสียหน่อยนะครับ เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะได้มาซึ่งพนักงานใหม่ที่เข้ากันได้กับทั้งองค์กร หัวหน้างานและตำแหน่งหน้าที่ที่เขาต้องเข้ามาครอง หากบางท่านมีทักษะดีอยู่แล้วก็จะได้มุมมองการสัมภาษณ์งอกงามขึ้น แต่หากบางท่านสัมภาษณ์แบบตามใจฉัน ไม่แน่ท่านอาจจะตกใจทำนองว่า นี่หรือเปล่า คือเหตุผลที่ทำให้น้องพนักงานใหม่ในสังกัดของเขาไม่ผ่านทดลองงาน
ยังมีอีกหลายเรื่องนะครับ ติดตามได้ในตอนที่ 2 เร็วๆ นี้ครับ
รวมเรื่องราวน่ารู้ในงาน HR จากวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ผ่านประสบการณ์งานบริหาร HR จากองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ
สอบถามข้อมูลด้าน HR หรือแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ 0-2514-7472 กด 6
หรือ E-mail : hrbuddy@jobbkk.com (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)
Credit : อ.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต (Professional Training & Consultancy)
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved