เมื่อไหร่จะเลิกใช้ซอฟต์แวร์ผี? ถึงเวลาล้างบางธุรกิจไม่ลงทุนโปรแกรม

  • 11 พ.ค. 2563
  • 750
หางาน,สมัครงาน,งาน,เมื่อไหร่จะเลิกใช้ซอฟต์แวร์ผี? ถึงเวลาล้างบางธุรกิจไม่ลงทุนโปรแกรม

ตำรวจ บก.ปอศ.เผยแนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยลดต่อเนื่อง ตั้งเป้าลุยปราบปรามหนัก จับตาโรงงาน ภาคอุตสาหกรรมยังไม่เลิกใช้ของปลอม…

สำรวจรอบตัวแล้วตอบมาว่า "คุณยังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่หรือเปล่า?" หากคำตอบคือ ใช่…! จงยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นซะโดยดี แม้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้นจะเป็นเพียงเรื่องที่คุณมองว่าเล็กน้อยเสียเหลือเกิน เช่น การดาวน์โหลดเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ การใช้โปรแกรมเถื่อนบนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่…เพราะประเทศไทยและโลกใบนี้ ยังมีผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอีกมาก และแน่นอนว่าเมื่อรวมกันแล้ว สิ่งที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้นมีมูลค่ามหาศาล!!!

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) หน่วยงานหลักในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว ระบุว่า... จำนวนคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ซึ่ง บก.ปอศ.ดำเนินการในปี 2557 นั้น พบว่ามีจำนวน 197 คดี ลดลงกว่า 20% จากปี 2556 ส่วนมูลค่าความเสียหายนั้นอยู่ที่ 456 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนราวๆ 11%…

พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รอง ผบก.ปอศ. รักษาราชการแทน ผบก.ปอศ. เปิดเผยว่า จากสถิติดังกล่าว องค์กรกว่า 197 แห่งที่ถูกจับกุมนั้น พบว่าแต่ละแห่งมีรายรับเฉลี่ยมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มูลค่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์นั้นมีมูลค่าที่ต้องจ่ายเพียง 2.3 ล้านบาทต่อบริษัท
 

องค์กรของคุณสนับสนุนให้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า?


"บ่อยครั้งที่ผู้บริหารระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรไม่รู้ว่าองค์กรของตนกำลังทำผิดกฎหมาย แต่ความไม่รู้ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวได้ และองค์กรธุรกิจเหล่านี้กำลังเป็นเป้าหมายของการปราบปรามจากการกระทำผิด อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ถือเป็นเรื่องน่าห่วง ประกอบกับรายงานของไอดีซีที่ว่า โอกาสที่ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจจะเผชิญกับภัยมัลแวร์เมื่อใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตามสัญญามีสูงถึง 33% และราว 25% ของการโจมตีทางไซเบอร์ทุกรูปแบบมุ่งไปที่องค์กรธุรกิจในภาคการผลิตซึ่งเป็นฐานการผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่"

พ.ต.อ.สรรักษ์ กล่าวอีกว่า การรักษาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ดังนั้นการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จึงเป็นส่วนสำคัญด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญอาชญากรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชาวต่างชาติเท่านั้น แต่บริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทยและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
 

ความปลอดภัยข้อมูล เป็นเรื่องราวที่ควรให้ความสำคัญ


โดย พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รอง ผบก.ปอศ. กล่าวว่า จากนี้นโยบายของ บก.ปอศ.จะเน้นไปที่ 3 ส่วนหลัก คือ 1.ผู้เสียหาย จะต้องให้ความร่วมมือในการติดตามและแจ้งเรื่องมายัง บก.ปอศ.เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของตนเอง 2.นโยบายการปราบปราม ซึ่งเราจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด 3.การรณรงค์ให้ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าใจถึงการสนับสนุนให้ใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ โดยต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงภาพรวมของการดำเนินงานของ บก.ปอศ.จากทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้เสียหาย และสื่อมวลชน

"ในปีนี้เราจะเน้นการดำเนินงานจับกุมแบบลอตใหญ่ภายในองค์กร โรงงาน และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งยังคงมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มวิศวกรรมและการก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเครื่องจักร บริษัทรับเหมาช่วงต่อ ยานยนต์และชิ้นส่วน การออกแบบสถาปัตยกรรม ตัวแทนจำหน่ายและธุรกิจค้าส่ง อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ รวมถึงบริษัทห้างร้านที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อกวาดล้างซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ส่วนเป้าหมายในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น บก.ปอศ.ยังคงตั้งเป้าให้ลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป"

ซอฟต์แวร์ไหนถูกละเมิดลิขสิทธิ์บ่อยที่สุด...
บก.ปอศ. ได้เปิดเผยข้อมูลซอฟต์แวร์ที่พบว่าถูกใช้โดยไม่มีสัญญาอนุญาตบ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ ThaiSoftware Enterprise, Microsoft, Autodesk, Siemens, Tekla a Trimble Company, Mastercam ซึ่งทั้งหมดเป็นซอฟต์แวร์ประเภทต่างๆ ทั้งงานเอกสาร การออกแบบ และระบบ
 

เป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์...


แนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์ของคนไทยเป็นอย่างไร?
อยากรู้ไหมว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา... ในปี 2546-2549 ประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ 80% แต่ลดลงเหลือ 78% ในปี 2550 และลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 1-2% ตั้งแต่ปี 2551-2556 ซึ่งผลล่าสุดในปี 2556 อยู่ที่ 71%

หากจำแนกตามสัญชาติผู้ถือหุ้น ใครจะสูงสุดในโผ
องค์กรธุรกิจที่ถูกเข้าตรวจค้นและจับกุมในปี 2557 นั้น พบว่ามีผู้ถือหุ้นเป็นชาวไทยถึง 76% ชาวญี่ปุ่น 1.5% ชาวมาเลเซีย 1.5% ชาวอเมริกัน 1% ชาวออสเตรเลีย 0.5% ชาวจีน 0.5% ชาวเดนมาร์ก 0.5% และอื่นๆ (บริษัทร่วมทุน) 18.5%

อุตสาหกรรมไหนนิยมใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน...
ประเภทของอุตสาหกรรมมีตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรม 44% ก่อสร้างและออกแบบ 19% ตัวแทนจำหน่ายและธุรกิจค้าส่ง 10% วิศวกรรม 6% อสังหาริมทรัพย์ 4% เครื่องจักรกล 3% และอื่นๆ 14%
 

ซอฟต์แวร์แท้ ช่วยปกป้องช่องโหว่จากภัยคุกคามได้


ของถูกและดี...อาจจะมีอยู่จริงบนโลก แต่ของถูกที่เป็นของเถื่อนแถมยังมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์ เราจะนับสิ่งนั้นว่าดีได้หรือไม่? การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นเรื่องที่เราควรลด ละ เลิก ได้หรือยัง...!

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top