ผู้สมัครงาน
ไม่ใช่แค่ Pray for Nepal แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเขย่าประเทศเนปาลครั้งนี้ ชวนให้ประชากรนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงคนไทยได้หยุดคิด หันมาทบทวน และใส่ใจกับการป้องกันและเอาตัวรอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติกันมากขึ้น...
แต่การจะเอาชนะธรรมชาตินั้น เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ควรดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่าง เรียนรู้จากมัน และเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จึงมีข้อน่ารู้ดีๆ 7 ข้อเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวมาฝากกัน น่าจะเป็นประโยชน์ให้คุณได้ไม่มากก็น้อย
1. แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้ไง?
แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ภายในโลกออกมา เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทำนายเวลา สถานที่ และความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
การเกิดแผ่นดินไหวมีสาเหตุมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ อย่างแรกเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน และแรงระเบิดจากการทำเหมืองแร่ ส่วนอย่างที่สองเป็นสาเหตุหลักของการเกิดแผ่นดินไหว คือ เกิดขึ้นตามธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทั้งนี้ทฤษฎีกลไกการเกิดแผ่นดินไหวที่ยอมรับกันในปัจจุบันมี 2 ทฤษฎีคือ
- ทฤษฎีว่าด้วยการขยายตัวของเปลือกโลก : เกิดจากการที่เปลือกโลกเกิดการคดโค้ง โก่งตัวอย่างฉับพลัน และเมื่อวัตถุขาดออกจากกันจึงปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปคลื่นแผ่นดินไหว
- ทฤษฎีว่าด้วยการคืนตัวของวัตถุ : เมื่อรอยเลื่อนเคลื่อนตัวจนถึงจุดหนึ่ง วัตถุจะขาดออกจากกันและเสียรูปอย่างมาก พร้อมทั้งปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาในรูปของคลื่นแผ่นดินไหว และหลังจากนั้นวัตถุจะคืนตัวกลับสู่รูปเดิม
แผ่นดินไหวในเขตชุมชน ทำเอารถราคว่ำระเนระนาด
2. ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว
ความร้ายแรงอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวสามารถบอกได้ในรูปของความรุนแรง (Intensity) และขนาด (Richter Magnitude) ของแผ่นดินไหว โดยแบ่งความรุนแรงและขนาดได้ดังนี้
ขนาด น้อยกว่า 3.0 แมกนิจูด มีความรุนแรงระดับ 1-2 สิ่งที่พบคือ ประชาชนไม่รู้สึกถึงแรงสั่น ตรวจวัดได้เฉพาะเครื่องมือ
ขนาด 3.0-3.9 แมกนิจูด มีความรุนแรงระดับ 3 สิ่งที่พบคือ คนอยู่ในบ้านเท่านั้นที่รู้สึก
ขนาด 4.0-4.9 แมกนิจูด มีความรุนแรงระดับ 4-5 สิ่งที่พบคือ ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกได้
ขนาด 5.0-5.9 แมกนิจูด มีความรุนแรงระดับ 6-7 สิ่งที่พบคือ ประชาชนทุกคนรู้สึก และอาคารเสียหาย
ขนาด 6.0-6.9 แมกนิจูด มีความรุนแรงระดับ 7-8 สิ่งที่พบคือ ประชาชนตื่นตกใจ และอาคารเสียหายปานกลาง
ขนาด 7.0-7.9 แมกนิจูด มีความรุนแรงระดับ 9-10 สิ่งที่พบคือ อาคารเสียหายอย่างมาก
ขนาด มากกว่า 8.0 แมกนิจูด มีความรุนแรงระดับ 11-12 สิ่งที่พบคือ อาคารเสียหายเกือบทั้งหมด
3. ที่ไหนปลอดภัยจากแผ่นดินไหว?
แผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกเวลาทุกนาที โดยเป็นแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 2 แมกนิจูดขึ้นไป เฉลี่ยแล้วเกิดขึ้นนาทีละ 2 ครั้งทั่วโลก พูดได้ว่าทุกพื้นที่บนโลกสามารถเกิดแผ่นดินไหวทั้งนั้น และสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ด้วย เพียงแต่ว่าจะเกิดครั้งใหญ่ หรือระดับปานกลาง หรือเกิดเพียงเล็กน้อย (แทบจะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน) เท่านั้นเอง ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็พบแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ของทุกประเทศบนโลกล้วนเคยประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งสิ้น
การเกิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเปลือกโลก แต่ในภาพรวมมันก็สามารถพบได้ทั่วทุกพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร (UK) เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับปานกลางบ่อยถึง 4-5 ครั้ง ทั้งๆ ที่พื้นที่ของประเทศไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยต่อของเปลือกโลก นั่นเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ดูเหมือนว่า...ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนบนโลก ก็แทบไม่มีโอกาสรอดจากมันได้เลย
ธรณีพิโรธ
4. สหรัฐอเมริกาเกิดแผ่นดินไหวทั่วประเทศ
มีข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยา ของศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวในสหรัฐอเมริกา (USGS) พบว่าทั้ง 50 รัฐในประเทศล้วนเคยประสบภัยแผ่นดินไหวในระดับใดระดับหนึ่ง (รุนแรงมากถึงรุนแรงน้อย) หรือไม่ก็พบได้ทุกระดับความรุนแรงในพื้นที่เดียวกัน สำหรับรัฐที่พบแผ่นดินไหวน้อยที่สุดคือรัฐฟลอริดา และ รัฐนอร์ท ดาโคตา โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในฟลอริดา เกิดขึ้นในปี 2006 และก่อนหน้านั้นเคยเกิดเมื่อนานมาแล้วในปี 1952
ส่วนรัฐนอร์ท ดาโคตา เมื่อก่อนเคยถูกเชื่อว่าเป็นรัฐที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน มีบทความจากหลายสำนักอ้างว่ารัฐนอร์ท ดาโคตา เป็นสถานที่ที่คนเกลียดแผ่นดินไหวน่าจะชอบไปอาศัยอยู่มากที่สุดในสหรัฐฯ แต่ต่อมา รัฐนี้ก็ถูกบันทึกว่ามีแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1975 ซึ่งมีศูนย์กลางแรงสั่นสะเทือนอยู่ที่เมืองมินนิโซตา ซึ่งก็มีผลกระทบต่อเมืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และก่อนหน้านั้นพบว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในรัฐเดียวกันนี้เมื่อปี 1968 มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฮัฟ ซึ่งตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.4 แมกนิจูด
5. บนโลกนี้ ที่ไหนเกิดแผ่นดินไหวน้อยที่สุด?
ถ้าคุณกำลังพยายามที่จะหลีกหนีภัยคุกคามจากแผ่นดินไหว สถานที่ที่คุณอาจจะต้องการย้ายไปอยู่คือ ทวีปแอนตาร์กติกา เพราะตามข้อมูลของ USGS ระบุว่าพื้นที่แถบนั้นมีการเกิดแผ่นดินไหวน้อยกว่าทวีปอื่นๆ
6. ไทยก็เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเช่นกัน
ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่หลายที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่ผ่านมาเกือบ 40 ปี พบว่ามีแผ่นดินไหวขนาดกลาง (5.0-5.9 แมกนิจูด) เกิดขึ้น 8 ครั้ง หรือเฉลี่ย 1 ครั้งในรอบ 5 ปี ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก
แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ไทยสูญเสียมากที่สุด นั่นคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 07.58 น. ตามเวลาในประเทศไทย ศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้มหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยความรุนแรงระดับ 9.1-9.3 แมกนิจูด กระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตร เข้าท่วมทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน ใน 14 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น
7. วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
ในเมื่อทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นเราจึงควรรู้ข้อปฏิบัติตัวเวลาเกิดแผ่นดินไหวไว้ก่อนดีกว่า โดยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ให้อยู่อย่างมีสติ คิดหาหนทางที่ปลอดภัย หมอบอยู่บริเวณที่สามารถป้องกันสิ่งของหล่นใส่ เช่น บริเวณใต้โต๊ะ ใต้เตียง หลีกเลี่ยงให้ห่างจากหน้าต่าง
หากอยู่นอกอาคารให้อยู่ในที่โล่ง ห่างจากสิ่งห้อยแขวนต่างๆ หากอยู่ในอาคารสูงให้รีบออกจากอาคารโดยเร็วและห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด หนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้ หากกำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง
เมื่อแรงสั่นสะเทือนหยุดลง ให้รีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา จากนั้นให้ตรวจสอบตัวเองและคนข้างเคียง ถ้าพบคนบาดเจ็บให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากต้องอพยพให้สวมรองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีวัสดุแหลมคมอยู่ตามพื้น ออกห่างจากบริเวณที่สายไฟขาด ส่วนในกรณีที่ไม่ต้องอพยพ ให้ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ ให้ใช้วิธีดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นแก๊สให้ปิดวาล์วถังแก๊ส เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ อย่าเข้าไปในเขตอาคารพัง และไม่ควรแพร่ข่าวลือถ้าไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้องเสียก่อน
ที่มา : infoplease, answers.yahoo.com, dmd.go.th, tmd.go.th
ภาพ : forbes, pinterest, htekidsnews, australiangeographic
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved