ผู้สมัครงาน
น้ำท่วม เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เมื่อฝนตกในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจอย่างกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา..
ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขังบ่อยครั้ง เรียกว่าฝนตกหนักทีไรการจราจรเป็นอัมพาตแทบทุกครา โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมทั้งหลาย อาทิ ถ.สุขุมวิท เพชรบุรี ฯลฯ ประสบปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงไม่แปลกที่ชาวกรุงมักบ่นพึมพำว่า มีอุโมงค์ยักษ์แล้วไง สุดท้าย..น้ำท่วมอยู่ดี..!?
อย่างกรณีน้ำท่วมที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอยู่ในขณะนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วมในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่ต้องเผชิญกับฝนตกหนักกว่า 3 ชั่วโมง สืบเนื่องจากอิทธิพลของพายุ ‘หว่ามก๋อ’ เข้าปกคลุมประเทศไทย ทำให้ถนนต่างๆ มีระดับน้ำสูง ส่งผลให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ เส้นทางการจราจรเป็นอัมพาตทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก
สืบเนื่องจากอิทธิพลของพายุ ‘หว่ามก๋อ’ เข้าปกคลุมประเทศไทย ทำให้ถนนต่างๆ มีระดับน้ำสูง
ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นจากอ่างกักเก็บน้ำ ทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชน
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอพาไปไขปัญหาน้ำท่วมในเมืองใหญ่ทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังมาจากปัจจัยอะไรบ้าง? อุโมงค์ยักษ์ กทม. ยังใช้งานได้ดีหรือไม่? กทม. เมืองรับน้ำจริงหรือไม่? รวมถึงควรรับมือและแก้ปัญหาน้ำท่วมขังอย่างไรบ้าง? ทุกคำถามที่ประชาชนอยากรู้ ติดตามในรายงานพิเศษชิ้นนี้...
น้ำท่วม ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาต
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ติดต่อไปยัง นายชาคร กัญจนวัตตะ นายอำเภอบางละมุง เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เมืองพัทยาและบริเวณใกล้เคียงกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ในพื้นที่หมู่บ้าน หมู่ 17 ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ เนื่องจากฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นจากอ่างกักเก็บน้ำ กระทั่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน
สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างทั่วเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น เนื่องจากน้ำเพิ่งลดเมื่อคืนวันที่ 16 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา โดยกำลังเร่งทำความสะอาดถนนและบ้านเรือน โดยนำรถฉีดน้ำเข้าดูแลทำความสะอาดพื้นถนน พร้อมวางแนวป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เช่น วางแนวกระสอบทราย จัดเตรียมเครื่องระบายน้ำ เพื่อเตรียมรับมือให้พร้อมกับสถานการณ์ในช่วงนี้
น้ำท่วมเมืองพัทยา ระดับน้ำสูง
ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเมืองพัทยา
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาลำเลียงชาวบ้านที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกกลับออกไปสู่ที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางการพัทยาได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับพายุฝนที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการมอบหมายให้กองพลทหารราบที่ 21 เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา ในการวางมาตรการและแนวทางป้องกันฝนตกที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
ในขณะเดียวกัน ตัวเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ยังได้รับผลกระทบจากพายุหว่ามก๋อเช่นเดียวกัน โดย นายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พายุโซนร้อน "หว่ามก๋อ" ได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ บ้างแล้ว ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ อาจจะมีผลกระทบบ้าง โดยทางสำนักการระบายน้ำ จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในช่วง 2-3 วันนี้ โดยเฉพาะการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งที่ผ่านมาสำนักการระบายน้ำได้พร่องน้ำในคูคลองไว้หมดแล้ว รวมถึงการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องสูบน้ำไว้ประจำจุดต่างๆ
น้ำท่วมเมืองพัทยา จ.ชลบุรี
“หากมีปริมาณฝนตกหนัก ทาง กทม. จะต้องเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด ตามศักยภาพที่มีของ กทม. หากมีน้ำท่วมขังจะประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในการดูแลประชาชน ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนใน กทม.ได้ว่าจะเกิน 60 มิลลิเมตรหรือไม่ เพราะต้องติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหลัก เนื่องจาก กทม.ไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ ทาง กทม. ก็มีเรดาร์ไว้ติดตามปริมาณกลุ่มฝน” นายกังวาฬ ระบุ
กรุงเทพมหานคร เมืองรับน้ำ จริงหรือ !?
อย่างไรก็ดี ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เจาะลึกกับปมปัญหาคาใจว่า..."กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองรับน้ำจริงหรือ..!?" ในเรื่องนี้ นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผย ว่า สาเหตุน้ำท่วมขังที่แท้จริง เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่อยู่ปลายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางผ่านของน้ำจากทางตอนเหนือ รวมถึงการทรุดตัวของพื้นผิวจราจรที่เกิดจากการใช้น้ำประปา ทำให้พื้นผิวมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายหลุมขนมครก ดังนั้น เมื่อฝนตกในปริมาณมาก ทำให้ต้องรอน้ำระบายออกสู่กระบวนการลำเลียงน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปกรุงเทพมหานคร มักจะเกิดน้ำท่วมเฉพาะพื้นผิวจราจรที่เป็นลุ่มต่ำ 10-15 ซม.
นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร
นายสัญญา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครประสบปัญหาการระบายน้ำช้า เนื่องจากปริมาณกองขยะที่มีจำนวนมหาศาลไหลไปรวมอยู่หน้าตะแกรงขวางทางระบายน้ำ โดยตะแกรงปิดท่อระบายน้ำ มีความสำคัญในการป้องกันปัญหาขยะเข้าสู่เครื่องระบายน้ำ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะสามารถใช้ระบบลำเลียงน้ำแบบอัตโนมัติได้ แต่ที่ยังใช้ระบบการทำงานของเครื่องจักรกล เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางก่อนเข้าสู่กระบวนการลำเลียงน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น กิ่งไม้ ที่นอน รวมถึงขยะชิ้นใหญ่ทั้งหมด โดยปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง และใช้เวลาระบายที่ยาวนานขึ้น
กทม. ประสบปัญหาการระบายน้ำช้า เนื่องจากปริมาณกองขยะที่มีจำนวนมหาศาลไหลไปรวมอยู่หน้าตะแกรงขวางทางระบายน้ำ
ขยะ เป็นปัญหาหลักในการสูบระบายน้ำ
ท่อระบายน้ำเล็ก ทรุดโทรม ประสิทธิภาพต่ำ ปัญหาหลักน้ำท่วมกรุง !?
ปลัดกรุงเทพมหานคร เผยว่า ท่อระบายน้ำในกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากการทรุดโทรม หลังจากติดตั้งมาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงท่อที่มีขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครมีการขยายขนาดท่อระบายน้ำในบางพื้นที่ที่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบอยู่ ทำให้จะต้องทำข้อตกลงร่วมกันก่อน จึงจะสามารถพัฒนาต่อไปได้
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการติดตั้งระบบท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่กำลังสร้างถนนใหม่ จากเดิมที่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้เพียง 60 มม. เพิ่มเป็น 80 มม. หรือ 100 มม. ตามลำดับ
“ถ้าฝนตกในปริมาณมากถึง 140 มม. หรือเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำฝนทั้งปี จะใช้เวลาในการระบายน้ำ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติจะเกิดฝนตกในปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 มม. ซึ่งจะใช้เวลาในการระบายเพียงครึ่งชั่วโมง” นายสัญญา ระบุ
ถ้าฝนตกในปริมาณมากถึง 140 มม. หรือเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำฝนทั้งปี จะใช้เวลาในการระบายน้ำ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง
นายสัญญา เผยอีกว่า เครื่องสูบน้ำในกรุงเทพฯ มีจำนวนหลายพันเครื่อง และมีหลายขนาดด้วยกัน สามารถสูบได้เต็มประสิทธิภาพ ในกำลังสูบ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยระบบการทำงานของเครื่องสูบจะทำงานอย่างต่อเนื่อง และกระจายทั่วพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเครื่องสูบน้ำ จะแยกออกเป็นสถานีสูบน้ำหลัก และสถานีสูบน้ำย่อย รวมถึงบ่อสูบและเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ โดยการทำงานของเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จะเก็บไว้ช่วยสูบในพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง
อุโมงค์ยักษ์ 7 แห่ง เอาอยู่ จริงหรือ ?!
กรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ยักษ์ จำนวน 2 แห่ง คือ พระราม 9 กับ บึงมักกะสัน และอุโมงค์อีก 5 แห่ง ได้แก่ คลองเปรม-โรงปูน ซอยอารีย์ สุขุมวิท 26 สุขุมวิท 32 และสุขุมวิท 42 ซึ่งอุโมงค์ทุกแห่งยังใช้งานได้ดีอยู่ สามารถรองรับน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการสร้างอุโมงค์เพิ่ม ได้แก่ คลองบางซื่อ และบึงหนองบอน บริเวณโรงมหาดไทย เขตบางนา รวมถึงมีโครงการที่กำลังอยู่ในแผนงานที่จะสร้างในอนาคตเพิ่มคือ คลองเปรม และคลองทวีวัฒนาตัดภาษีเจริญ
อาคารรับน้ำบึงมักกะสัน สำนักการระบายน้ำ
อาคารรับน้ำบึงมักกะสัน
ส่วนระบบการทำงานของอุโมงค์ยักษ์ จะเริ่มตั้งแต่น้ำจากคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองสอง และคลองประเวศ จะไหลผ่านอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ออกที่คลองพระโขนง และไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนอุโมงค์ยักษ์บึงมักกะสัน จะไหลออกที่คลองขุดวัดช่องลม และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงน้ำจากอุโมงค์ซอยอารีย์ จะไหลออกที่คลองเปรม สู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์สุขุมวิท 26 สุขุมวิท 32 และสุขุมวิท 42 จะไหลออกที่คลองหัวลำโพงและคลองเตย ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทิศทางการไหลของน้ำจากอุโมงค์ทุกแห่ง จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น
ส่อง! 22 จุดอ่อนน้ำท่วม กทม. ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ?!
จากการสำรวจของแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร จำนวน 22 จุด มีดังนี้
1. เขตบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะ จากวงเวียนหลักสี่ถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
2. เขตหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงซอยศูนย์ราชการ
3. เขตหลักสี่ ถนนงามวงศ์วาน ช่วงหน้าตลาดพงษ์เพชร
4. เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ
5. เขตบางซื่อ ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน
6. เขตดุสิต ลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านฝั่งสวนอัมพร
7. เขตดุสิต ถนนราชวิถี ช่วงหน้าราชภัฏสวนดุสิต และเชิงสะพานกรุงธนบุรี
8. เขตดุสิต ถนนนครไชยศรี ช่วงหน้ากรมสรรพสามิต
9. เขตราชเทวี ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์
10. เขตราชเทวี ช่วงหน้า สน.พญาไท
11. เขตพระนคร ถนนสนามไชย จากซอยเศรษฐการ ถึงถนนท้ายวัง และรอบสนามหลวง
12. เขตสัมพันธวงศ์ ถนนเจริญกรุง (แยกหมอมี) จากถนนแปลงนาม ถึงแยกหมอมี
13. เขตสัมพันธวงศ์ ถนนเยาวราช ฝั่งเหนือ จากถนนทรงสวัสดิ์ ถึงถนนราชวงศ์
14. เขตสาทร ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงไปรษณีย์ยานนาวา
15. เขตสาทร ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ ถึงถนนนางลิ้นจี่
16. เขตมีนบุรี ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวา ถึงคลองแสนแสบ
17. เขตประเวศ ถนนศรีนครินทร์ หน้าโรงแรมโนโวเทล
18. เขตตลิ่งชัน ถนนฉิมพลี จากถนนบรมราชชนนี ถึงทางรถไฟสายใต้
19. ถนนเพชรเกษม บริเวณแยกพุทธมณฑลสาย 2 ถึงปากซอยเพชรเกษม 63
20. เขตบางบอน ถนนบางบอน 1 จากถนนเอกชัย ถึงคลองบางโคลัด
21. เขตบางขุนเทียน ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระรามที่ 2 ถึงถนนบางขุนเทียนชายทะเล
22. เขตทุ่งครุ ถนนประชาอุทิศ จากคลองรางจาก ถึงหน้าสำนักงานเขตทุ่งครุ
น้ำท่วมขังบริเวณทางลอดแยกรัชดา-สุทธิสาร
“สำหรับการแก้ปัญหากับพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำ หรือจุดอ่อนน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทางกรุงเทพมหานครจะต้องคอยรับมือเป็นพิเศษ โดยการติดตั้งระบบสูบน้ำให้มากขึ้น มีการสร้างระบบสูบเป็นระบบปิดล้อมทั้งหมด และต้องพัฒนาระบบการลำเลียงน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติม
นายสัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร อนาคตจะต้องมีการหาทางออกอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบลำเลียงน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ รวมถึงประชาชนจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการทิ้งขยะให้มากขึ้น นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานครจะต้องมีแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วม และจะต้องมีการพัฒนาร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องทำงานควบคู่ไปด้วยกัน
อนาคตจะต้องมีการหาทางออกอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบลำเลียงน้ำให้มีประสิทธิภาพขึ้น
น้ำท่วมขัง กลายเป็นทะเลกรุงเทพฯ
ขยะ มูลฝอย! ขวางทางระบาย อีกสาเหตุน้ำท่วมกรุง ?!
ด้าน นายสุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครกล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการออกสำรวจบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง เพื่อตรวจสอบปัญหาเรื่องกองขยะที่อยู่ใต้ถุนบ้านและกองขยะริมตลิ่งจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทางสำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่กำลังดำเนินการตรวจสอบและแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน เพื่อให้แม่น้ำลำคลองสะอาดขึ้น
กทม. ส่งเจ้าหน้าที่ดูแลและเก็บขยะ
ปริมาณขยะ กทม. มากถึง 9,700-10,000 ตันต่อวัน ?!
นายสุวพร เผยอีกว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะเฉลี่ย อยู่ที่ 9,700-10,000 ตันต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก โดยเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่มีปริมาณขยะมากที่สุดคือ เขตคลองเตย มีปริมาณมากถึง 400 ตันต่อวัน และเขตจตุจักร 360 ตันต่อวัน ส่วนเขตที่มีปริมาณขยะน้อย เช่น เขตพระนคร ปริมาณขยะเพียง 180 ตันต่อวัน เขตตลิ่งชันและเขตหนองจอก มีปริมาณขยะไม่เกิน 100 ตันต่อวัน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีปริมาณขยะเฉลี่ย อยู่ที่ 200-300 ตันต่อวัน เทียบเป็นคนละ 1 กก.ต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร แหล่งเชิงพาณิชย์หรือตลาด รวมถึงอาคารหรือตึก เป็นต้น
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะเฉลี่ย อยู่ที่ 9,700-10,000 ตันต่อวัน
ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาขยะในกรุงเทพมหานคร ว่า เป้าหมายหลักคือ จะต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้จักแยกขยะให้ถูกต้องและถูกวิธี เพื่อให้ปริมาณขยะในกรุงเทพมหานครลดลง เช่น ขยะรีไซเคิล เศษอาหาร ขยะอินทรีย์ ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้ ดังนั้น จะพบว่า ขยะที่ถูกทำลายจะเหลือเพียงไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมกรุงเทพมหานคร จึงยังมีปริมาณขยะเป็นจำนวนมหาศาลอยู่ เนื่องจากว่าประชาชนไม่ได้มีการแยกขยะอย่างถูกประเภท ทำให้นำไปสู่กระบวนการทำลายทิ้งทั้งหมด
ปริมาณขยะมากที่สุดคือ เขตคลองเตย มีปริมาณมากถึง 400 ตันต่อวัน
ดัดนิสัย! ทิ้งขยะไม่เลือกที่ จับได้ ปรับ 2,000 พัน
ขณะที่ นายโสภณ โพธิสป ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า สำนักเทศกิจ แก้ปัญหาการทิ้งขยะของประชาชน โดยการใช้วิธีตั้งจุดจับปรับอย่างน้อยพื้นที่ละ 1 จุด หรืออาจมากกว่า 60 จุด โดยจะเน้นพื้นที่บริเวณที่มีผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมาก เพื่อต้องการสอดส่องดูแลให้ประชาชนมีระเบียบวินัยในการเลือกทิ้งขยะมากขึ้น รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาการจัดระเบียบเมืองตามจุดต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่า บริเวณถนนทองหล่อ ถนนสุขุมวิท บริเวณหน้าบ้านมนังคศิลา และบริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราช มีปริมาณขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขณะนี้กำลังมีโครงการจะยกเลิกผู้ค้าจุดผ่อนผันเพิ่มอีกหลายร้อยจุด เพื่อต้องการลดปริมาณขยะในกรุงเทพมหานคร
ขยะ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
นายโสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับการจับกุมผู้ทิ้งขยะไม่เลือกที่ เป็นโครงการที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว แม้ว่าจะกระแสไม่เห็นด้วยจากประชาชนบางกลุ่ม ว่า หน่วยงานคงไม่มีเวลามากวดขันปัญหาขยะอย่างจริงจัง แต่กระนั้น ทางสำนักเทศกิจยังคงยืนยันที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้ประชาชนมีระเบียบวินัยในการเลือกทิ้งขยะมากขึ้น รวมถึงจะมีการออกบทลงโทษเกี่ยวกับการจับกุมผู้ฝ่าฝืนในการทิ้งขยะไม่เลือกที่อย่างจริงจัง โดยการปรับไม่เกิน 2,000 พันต่อครั้ง
นอกจากนี้ ทางสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร จะมีการประชาสัมพันธ์ทางเรือ เพื่อต้องการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนขยะในแม่น้ำลำคลองปริมาณมาก โดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้น จะพัดพาขยะที่สะสมอยู่ใต้ถุนบ้านมากองรวมกัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบปริมาณขยะในกรุงเทพมหานคร หลังจากออกมาตรการบทลงโทษการจับปรับผู้ฝ่าฝืนทิ้งขยะ พบว่า ได้ผลในระดับที่ดี ประชาชนทิ้งขยะน้อยลง ทั้งทางบกและทางน้ำ
ขยะมูลฝอย ขวางทางระบายน้ำ ทำให้ กทม. ต้องส่งเจ้าหน้าที่เก็บขยะ
กทม. ใช้สูบน้ำเฉพาะหน้า แก้ปัญหาระยะสั้น !?
ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครอย่างตรงไปตรงมา ว่า เกิดจากระบบการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับปริมาณน้ำมหาศาลได้ เนื่องจากว่าท่อระบายน้ำที่มีคุณภาพต่ำและมีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ระบบลำเลียงน้ำสามารถระบายลงสู่คลองช้า โดยกระบวนการระบายน้ำจะต้องประกอบด้วย 1. บ่อพักน้ำ จะเป็นด่านแรกของการรองรับปริมาณน้ำฝน 2. ท่อระบายน้ำ จะรองรับน้ำ สู่ลำคลองต่างๆ 3. อุโมงค์ น้ำจากคลองจะไหลลงสู่อุโมงค์ โดยระบบการลำเลียงน้ำของอุโมงค์จะต้องรองรับน้ำ เพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีเพียงการใช้เครื่องสูบน้ำช่วยเป็นครั้งคราว เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
กลไกในการสูบระบายน้ำ
อาคารรับน้ำ จะต้องใช้กลไกในการคัดแยกขยะออก
กทม. ควรเร่งแก้ระบบต้นทาง คาดฝนหนักขึ้น ถึง พ.ย.
ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังของกรุงเทพมหานครในระยะยาว ว่า ทางกรุงเทพมหานคร จะต้องเร่งแก้ปัญหาที่ต้นทางของการลำเลียงน้ำให้ดีเสียก่อน โดยการขยายท่อระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำให้ได้ในทันที เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังบนพื้นผิวจราจรอีกต่อไป ซึ่งหากไม่สามารถแก้ปัญหาในส่วนของท่อระบายน้ำได้ จะต้องเลือกแก้ที่ผิวจราจร เพื่อให้น้ำสามารถซึมผ่านพื้นผิวจราจรได้แทน รวมถึงแก้ปัญหาตั้งแต่ระบบน้ำต้นทางให้สามารถไหลสู่ปลายทางได้ดี โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องทำทุกพื้นที่ อาจจะเลือกแก้เฉพาะจุดอ่อนหรือเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากนี้ปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้น และมีโอกาสเกิดน้ำท่วมได้ตลอด จนถึงเดือนพฤศจิกายน
ในวันพรุ่งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปไขคำตอบต่อไปว่า พื้นผิวจราจรในกรุงเทพมหานครเป็นแอ่งขนมครกมานานแค่ไหน มีสาเหตุมาจากอะไร ในอดีต กทม. มีการจัดระบบการวางผังเมืองอย่างไร รวมถึง กรุงเทพมหานครเกิดดินทรุดปีละ 1-2 เซนติเมตร จริงหรือไม่...!? ติดตามได้ พรุ่งนี้!
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved