ถอดปริศนาตัวอักษรก่อนตาย เปิดนิทรรศการ อุบัติอักษรไทยวิจิตร ดร.สันติ คุณประเสริฐ

  • 11 พ.ค. 2563
  • 4075
หางาน,สมัครงาน,งาน,ถอดปริศนาตัวอักษรก่อนตาย เปิดนิทรรศการ อุบัติอักษรไทยวิจิตร ดร.สันติ คุณประเสริฐ

ศาสตร์และศิลป์เริ่มหายไปตามกาลเวลา เฉกเช่นกับอักษรไทยวิจิตร หรือ Calligraphy ศิลปะการเขียนตัวอักษรที่ประณีตงดงาม และมีคุณค่าทางสุนทรียศิลป์ก็เริ่มหาได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่น้อยคนจะรู้จัก-คุ้นเคย ทว่าคนรุ่นหลังยังคงมองข้าม และสนใจงานศิลปะแขนงนี้น้อยลง …

 

'ดร.สันติ คุณประเสริฐ' ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการรังสรรค์อักษรไทยวิจิตร มานานกว่า 40 ปี

ไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสจับเข่าคุยกับ รองศาสตราจารย์ 'ดร.สันติ คุณประเสริฐ' ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการรังสรรค์อักษรไทยวิจิตรมานานกว่า 40 ปี เกี่ยวกับประเด็นความน่าสนใจของศาสตร์นี้ อินสไปเรชั่นในแต่ละชิ้นงาน รวมทั้งเทคนิคการใช้ลายเส้นต่างๆ ในงานนิทรรศการ 'อุบัติอักษรไทยวิจิตร' ที่เขาได้รวบรวมผลงานกว่า 100 ชิ้นมาจัดแสดง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังๆ เห็นถึงความสวยงาม และความน่าสนใจของตัวอักษร

พอยิ่งได้ฟังได้คุย บอกเลยว่าตัวอักษรไทยทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด ...! 

 

ดร.สันติ คุณประเสริฐ

"การเขียนอักษรวิจิตร คือการประดิษฐ์ตัวอักษรให้มีลายเส้นพิเศษกว่าการคัดลายมือ เสน่ห์ของมันอยู่ตรงลายเส้นตัวอักษร และการเลือกคำที่นำมาสร้างสรรค์อักษรวิจิตร ก็ควรเป็นถ้อยคำที่ดี เข้าใจง่าย มีความหมายกินใจ (ทั้งความหมายตรง และความหมายแฝง)"

 

มีแต่ผลงานเจ๋งๆ ทั้งนั้น !

ทำไมถึงสนใจด้านอักษรวิจิตร … ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เลยรึเปล่า ?

ตอนเด็กๆ เราแค่ชอบการคัดไทย เขียนไทยนะ โดยเฉพาะคัดไทยเป็นวิชาที่ชอบมาก แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ เพราะเราเป็นอาจารย์สอนมากกว่า ต้องสอนวิชาออกแบบตัวอักษร เราเลยรู้สึกคุ้นกับศาสตร์ทางด้านนี้ มันคือการเอาตัวอักษรมาประดิษฐ์ให้มันสวยงาม แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอักษรวิจิตรอะไรขนาดนั้น … อักษรวิจิตรจริงๆ เพิ่งเริ่มมาประมาณ 5 -6 ปีที่แล้วเอง เราคิดว่าด้านนี้มันไม่มีในหลักสูตรอุดมศึกษาของไทยเรา ในสายศิลปะไม่มีเลย และมันไม่น่าจะมีมหา'ลัยไหนสอนนอกจากที่จุฬาฯ เราก็เลยเปิดวิชานี้ขึ้นมา ในชื่อ 'วิชาการเขียนอักษรไทยวิจิตร (Calligraphy)' นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้น จากนั้นเราก็มาผสมผสานกันหลายๆ อย่าง-ใช้แนวประยุกต์ศิลป์ มีทั้งประสบการณ์ที่เราเคยสอนออกแบบตัวอักษรมาก่อน มีข้อมูล และตัวอย่างของ Calligraphy มากพอสมควร

ในวงการศิลปะของไทยเราไม่มีใครที่จะทำอักษรวิจิตรเลย อาจจะมีบ้างเล็กน้อย ทว่ามันก็เป็นลักษณะออกแบบลายแทตทูที่มีความเป็นสากลนิดๆ ถึงมันจะเป็นอักษรไทยอยู่บ้างก็จริง หรือในวงการกราฟิกก็มีบ้าง คือเอาลายเส้นไปใช้เป็นไตเติ้ลของหนังสือ ...

 

'ดร.สันติ คุณประเสริฐ' ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการรังสรรค์อักษรไทยวิจิตร มานานกว่า 40 ปี

รู้สึกตอนไหนว่าชอบงานเขียนลายเส้น ?

อาจเป็นสมัยเรียนปริญญาโท ตอนนั้นไปเรียนที่นิวยอร์ก วิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วก็มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากของการนำอักษรวิจิตรมาใช้ในงานกราฟิก เพื่อนๆ ก็บอกกันว่า อาจารย์คนนี้มีชื่อเสียงมากนะ นานๆ เขาจะมาสอนสักทีหนึ่ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการรู้จักคำว่า อักษรวิจิตร หรือ Calligraphy มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร ลายเส้นมันสวย เรียบง่าย ประณีตขนาดไหน แล้วเราก็ได้เริ่มหัดสมัยเรียนปริญญาโท แต่เราเรียนแค่คอร์สเดียวนะ

เสน่ห์ และความน่าสนใจของศิลปะอักษรวิจิตร ?

เสน่ห์คงอยู่ที่ความตรงไปตรงมา ตัวอักษรมันสื่อได้ตรง-ชัดเจนมากกว่าอะไรทั้งสิ้น อย่างภาพเขียนบางทีมันอาจจะตีความไปได้ต่างๆ นานามากมาย แต่ตัวอักษรเขียนอย่างไรก็มีความหมายอย่างนั้น มันเป็นอะไรที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา อีกทั้งตัวอักษรมีจังหวะลีลา ลายเส้นที่สวยงาม สามารถนำมาเป็นงานทัศนศิลป์ที่สวยงามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอักษรไทยเป็นอักษรประจำชาติ เราเลยยิ่งต้องเอามาทำให้มันสวยงามยิ่งขึ้น

 

ใช้ลายเส้นทำเป็นลวดลายบนตัวช้าง ...


งานอักษรวิจิตร หรือ Calligraphy ต้องใช้ความประณีต และความละเอียดอ่อนต่างจากศิลปะแขนงอื่นๆ ยังไงบ้าง ?

ส่วนตัวคิดว่าไม่ต่างนะ ถ้าจะต่างก็คงเป็นรูปทรง (Form) ศิลปะแขนงอื่นๆ อาจใช้เป็น คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ แต่เราใช้ฟอร์มแบบรูปทรงตัวอักษร ส่วนเนื้อหาของศิลปะแขนงอื่นๆ อาจจะเป็นอะไรที่สะท้อนสังคม สะท้อนชีวิตประจำวัน ทว่าของเราก็สามารถทำได้ โดยเอาสำนวน-คำคมมาใช้ ซึ่งคำคม และคติพจน์เหล่านี้จะเป็นสิ่งเตือนใจ ให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตของผู้คน

จากความชอบตั้งแต่ตอนเรียน เริ่มอยากมีผลงานเป็นของตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

จริงๆ แล้วไม่เคยคิดว่าจะมีการจัดนิทรรศการเดี่ยวขึ้นมาเลยนะ แต่เริ่มต้นจากที่ในแต่ละปีจุฬาฯ จะมีงานจัดแสดงศิลปะร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นนิทรรศการหมู่ของอาจารย์ที่สอนทางด้านศิลปะ คือให้ส่งผลงานเข้ามาร่วมแสดง เราก็ส่งเข้ามาทุกปี ปีละ 4-5 ชิ้น ส่วนมากผลงานที่ทำขึ้นมาก็เพื่อให้นิสิตดูเป็นตัวอย่าง แต่ก่อนนี้เราไม่มีเวลาทำเลยนะ เพิ่งมาทำจัดแสดงเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว หลังจากเกษียณเอง

 

อีกหนึ่งผลงานที่ภูมิใจ !

แล้วกลายมาเป็นนิทรรศการผลงานเดี่ยวของอาจารย์ได้ยังไง ?

อันนี้ทางจุฬาฯ เพิ่งบอกเมื่อประมาณ 1 ปีครึ่งที่แล้ว ว่าเขาจะมีนิทรรศการประจำปีของมหา'ลัย ชื่อนิทรรศการเชิดชูเกียรติ ซึ่ง 1 ปีเขาจะเรียกอาจารย์มาหนึ่งท่านเพื่อจัดนิทรรศการให้ เป็นสปอนเซอร์ให้ ซึ่งเขาก็ติดต่อเรามา เราก็ตอบตกลงได้เลย เพราะเราก็อยากจะนำเสนออยู่แล้ว บวกกับตอนนั้นเรามีเวลาว่างพอดี อยากจะทำอะไรที่มันดูเป็นประโยชน์สักอย่างหนึ่งก็เลยทุ่มเทสุดกำลังเลย จนกลายเป็นผลงานที่เห็นอยู่ตอนนี้

ไอดอลในศิลปะแขนง อักษรวิจิตร ?

มีมาเรื่อยๆ ตลอดนะ แต่ถ้าจะให้เอ่ยนามก็คงเป็นอาจารย์สมัยเรียน ชื่อ บลูเบอร์ลิน เป็นนักออกแบบกราฟิก ไม่ถึงขนาดเป็นนักออกแบบอักษรวิจิตรนะ คือแรงบันดาลใจของเรามันมีเยอะมาก ในแถบตะวันออกกลางก็น่าสนใจ เพราะว่าศาสตร์ทางด้านนี้มันลึกซึ้งแล้วก็สืบทอดมานาน ลายเส้นก็เป็นลายเส้นที่ใช้ปากกาเขียน อย่างถ้าเป็นของจีนนี้เราแทบไม่รู้เรื่องเลย เพราะว่าเราอ่านภาษาจีนไม่ได้ เราแค่เห็นว่ามันสวยงาม ดูมีพลัง แต่เราก็ไม่รู้ความหมาย อักษรโรมันก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ทว่ามันก็ไม่ได้ลึกซึ้ง-สวยงามมากมายเท่ากับทางจีน และตะวันออกกลาง

 

ตัวอักษรทำอะไรได้มากกว่าที่คิด !

 

มีการใช้แสง และเงาเข้ามาช่วย

ผลงานแต่ละชิ้นได้แรงบันดาลใจมาจากไหน ?

โดยมากเราเริ่มจากคำคมสั้นๆ สำนวนไทย หรือคติพจน์ที่เราต้องการนำเสนอ เช่น เน้นให้คนทำดีได้ดี, คิดดี พูดดี ทำดี แล้วก็เอาตัวอักษรมาผสมกันให้มันเป็นเรื่องราว เป็นภาพสวยงาม คำที่ใช้แต่ละคำสื่อแล้วเข้าใจง่าย … คนอื่นในวงการมักจะเขียนด้วยปากกา หรือพู่กัน แต่ด้วยความที่เรารักงานกระดาษ ชอบตัดกระดาษ เจาะกระดาษ เราเลยเน้นทำงานกระดาษซะส่วนใหญ่ อย่างผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ก็เป็นงานกระดาษ ใช้เทคนิคการฉลุ ซึ่งเราก็ต้องออกแบบให้เหมาะกับงานกระดาษ ให้มีโครงสร้างของงานกระดาษ เส้นอาจจะต่อเนื่องกันบ้าง ช่องไฟต้องติดกัน เพื่อให้เหมาะกับงานกระดาษที่พอเจาะลงมาแล้วสามารถอ่านเป็นตัวอักษรได้ บางทีอาจจะอ่านยากหน่อย เพราะว่ามันต้องอาศัยโครงสร้างของกระดาษ

 

ปีกผีเสื้อที่ดูซับซ้อน ... แต่สวยงาม !

จากผลงานจัดแสดงทั้งหมด ชอบผลงานอันไหนมากที่สุด ?

ชอบแทบทุกชิ้นเลยดีกว่า แต่ละชิ้นมันแตกต่างกันไป ความหมายที่สื่อออกมาก็ไม่เหมือนกัน …

มีวิธีเลือกใช้คำแต่ละคำมาจากอะไร ยังไงบ้าง ?

ง่ายๆ เลย นึกอะไรได้ก็โน้ตไว้ คติพจน์-คำคมโดนๆ หรือหาหนังสือสุภาษิต สำนวนมาอ่านบ้างก็ช่วยได้ ถ้าถามว่าชอบคำไหนเป็นพิเศษ เราชอบอันนี้นะ 'ทำดี ได้ดี' มันง่ายมาก เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา เราเลยเลือกใช้เป็นไฮไลต์ของงานนี้

 

อ่านออกกันไหม ... มีคำอะไรเขียนอยู่บ้าง ?

 

ทำเป็นหน้ากากสวยๆ

กว่าจะประดิษฐ์แต่ละคำ แต่ละตัวอักษร ใช้เวลานานไหม มีความยาก-ง่ายในการออกแบบยังไงบ้าง ?

ไม่นานเลยนะ แค่ประมาณครึ่งวัน หรือหนึ่งวันเท่านั้น เพราะเราทำเรื่อยๆ ไง ถ้าเป็นตอนแรกก็อาจจะยากหน่อย แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันก็จะเร็ว ส่วนเรื่องการออกแบบก็ไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาค่อยๆ เขียน ค่อยๆ ปรับลายเส้น ทำมันด้วยความสนุก อีกอย่างอักษรไทยเราคุ้นอยู่แล้ว ก-ฮ แค่จะเปลี่ยนจากเป็นเส้นตรง หรือเส้นเอนเท่านั้นเอง ลายเส้นแต่ละแบบให้ความรู้สึก-อารมณ์แตกต่างกัน อยู่ที่เราจะประดิษฐ์ให้อารมณ์อย่างไร จะให้รู้สึกสง่างาม อ่อนหวาน ดูเป็นกันเอง ก็ใส่ความรู้สึกไป ปรับรูปแบบ ปรับลายเส้นไป เช่น ถ้าแนวตั้งตรงจะให้ความรู้สึกดูสง่างาม เส้นเอียงหน่อยก็จะให้ความเป็น Casual ดูไม่เป็นทางการ อยากให้ดูอ่อนหวานนิดๆ ก็เพิ่มลายเส้น ลายคดเข้าไปแทรกๆ นิดหน่อย

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคำด้วยนะ คำไหนต้องการความสง่างาม ความเคร่งขรึม อยากจะนำเสนอสอดแทรกความรู้สึกลงไป ก็ใส่ลายเส้นเข้าไป มันไม่เหมือนกับคัดไทยทั่วไปที่ใช้ตัวอักษรธรรมดา คนก็ไปตีความหมายเอาเอง แต่อักษรวิจิตรนี้ต้องให้ตัวอักษรสอดคล้องกับความหมายจริงๆ

 

แต่ละภาพมีถ้อยคำแฝง ...

เทคนิคการเขียนลายเส้นให้สมูท เรียบไปในทิศทางเดียวกัน ?

ต้องใช้การฝึกอย่างเดียว ฝึกมากก็ทำได้เร็ว และเห็นว่าลายเส้นจะนิ่ง-ไปในทิศทางที่เราต้องการ แรกๆ ตอนเราฝึกมือสั่น ทำไม่ได้เลย แต่พอฝึกบ่อยๆ ผ่านมา 2-3 ปี มันจะค่อยๆ คุ้นชินมือขึ้น


สเต็ปขั้นตอนไหนในการประดิษฐ์ที่ยากที่สุด ในการออกแบบแต่ละชิ้น แต่ละดีไซน์ ?

ไม่ค่อยมีอะไรยากนะ อาจเพราะเราทำด้วยความชอบ และความสนุกจริงๆ ถ้าจะยุ่งยากก็คงเป็นในเรื่องของการเอาเทคนิคอื่นมาประกอบ เช่น การเอาแมคคานิกส์มาใช้ เพิ่มลูกเล่นใส่ไฟบ้าง มีมอเตอร์หมุนบ้าง ซึ่งเราไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ค่อยคุ้นเคย เราก็ต้องค้นหาแล้วมันเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก เราลงมือทำเองทุกอย่างจนกระทั่งออกมาเป็นชิ้นงาน มันก็ต้องใช้ความพยายาม แต่ถ้าเป็นงานกระดาษมันก็จะง่ายเลย

 

สวยอย่างมีศิลปะ !

มีมุมมองอย่างไรบ้างที่คนไทยปัจจุบันสนใจงานศิลปะด้านนี้น้อยลง ?

ใช่เลย โดยเฉพาะตัวอักษรวิจิตร ดังนั้นมันก็เลยเป็นหน้าที่ของเราต้องช่วยกันส่งเสริม อย่างนิทรรศการครั้งนี้ เราก็พยายามสุดกำลังให้คนเห็นว่าจริงๆ แล้ว ตัวอักษรมันก็ทำอะไรได้นะ ให้ความสวยงาม มีคุณค่าทางสุนทรียศิลป์ หรือเมื่อครู-อาจารย์เห็นก็เอาไปเป็นโปรเจกต์สอนต่อได้

แต่ละผลงานต้องการสื่อ มีจุดประสงค์ หรือให้แรงบันดาลใจกับคนชมนิทรรศการยังไงบ้าง ?

มันเป็นภาพรวมมากกว่านะ คือ 1. ในเรื่องของรูปร่างรูปทรง (Form) นำเสนอให้เขาชื่นชมกับความสวยงามของตัวอักษรไทย 2. ให้เขาได้เนื้อหาที่ดี (content) ได้สำนวน คติคำคมที่มันกินใจ และมีความหมาย และ 3. ช่วยกระตุ้นความคิด (function) ให้เขารู้สึกเห็นด้วย เขาจะได้มีกำลังใจ มีพละกำลังที่จะต่อสู้ ทำดี และคิดบวกมากขึ้น

 

เล่นกับลายเส้น !

อะไรที่ทำให้หลงรักในลายเส้นอักษรวิจิตร ?

เพราะว่าเราชื่นชอบศิลปะในลักษณะนี้อยู่แล้ว และลายเส้นตัวอักษรถือเป็นลายเส้นที่สวยงามอีกลักษณะหนึ่ง แทนที่จะไปวาดคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ ด้วยลายเส้นที่สวยงาม เราก็วาดมันให้สวยงามด้วยลายเส้นของตัวอักษร และถ้อยคำมงคลภาษาไทย ที่สำคัญต้องเป็นตัวอักษรไทยด้วยนะ เพราะมันไม่มีที่ไหนอีกแล้วจะบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ได้ขนาดนี้

 

โคมไฟตั้งโต๊ะ

 

มีสีสันเข้ามาแต่งแต้ม เติมความสดใส !

เสริมเทคนิค คำแนะนำในการวาดเส้น ?

ถ้าสนใจในด้านนี้ก็ต้องใช้ 'การฝึกมือ' เท่านั้น ยิ่งฝึกมากก็ยิ่งเชี่ยวชาญ คล่องมือ และลายเส้นก็จะสมูทไปในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มจากดินสอและกระดาษจะดีที่สุด เพราะว่ามันค่อนข้างจะเรียบง่าย ลบง่าย แต่ถ้าอยากทำให้มันพลิกแพลง ลงทับเป็นลายเส้นปากกา หรือลายเส้นพู่กันก็จะต่อเนื่องไปได้ เพราะว่าเราเริ่มต้นสเกตช์ด้วยดินสอก่อนแล้ว ...

 

มีแต่งานสุดยอดศิลปะ !

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top