ผู้สมัครงาน
ใช้งบมาก-อนุมัติคนเดียว กทม.เปิดแถลงฟุ้ง‘สุดคุ้ม’ คนอัพโหลดภาพเป็นล้าน
กทม.ส่ง “อมร” แจงยิบ โบ้ยเข้าใจผิดยอดกล้องซีซีทีวี ยันใช้ได้จริง 4.7 หมื่นตัว ปัดฮั้วปมไฟแอลอีดี ลั่นผู้ว่าฯ กทม. มีสิทธิเบิกจ่ายงบฯกลางปี 59 ฟุ้งสุดจะคุ้มทุ่ม 39.5 ล้าน ทำซุ้มไฟ คนชมถึง 4 แสน แถมเปรียบมูลค่าอัพโหลดภาพละ 20 บาท ฟุ้งคนโหลดเป็นล้าน ซ้ำยังขู่ฟ้องกลับคนใส่ร้าย กทม. แต่คดีต่อสัญญาบีทีเอสกลับเงียบกริบ บอกแค่เรื่องอยู่ใน ป.ป.ช. “วิลาศ” สวนทันควัน อย่าปัดความรับผิดชอบ พร้อมยอมรับไม่ถึงตัว “คุณชายหมู” ขณะที่ผู้ว่าการ สตง.ชงข้อสังเกตซุ้มไฟส่อฮั้ว บ.ทัวร์เพิ่งแจ้งขออนุญาตทำธุรกิจตกแต่งไฟเดือน ก.ย.58 ติ กทม.ใช้งบควรผ่านสภา กทม. เพราะไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน
กรณีนายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่น่าเชื่อว่าไม่โปร่งใส 3 เรื่องคือ 1.การติดตั้งกล้อง โทรทรรศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) 2.การขยายสัญญาเดินรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ออกไปอีก 30 ปี 3.โครงการประดับไฟแอลอีดีตกแต่งบริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จำนวน 5 ล้านดวง ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2558-31 ม.ค.2559 มูลค่า 39.5 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 4 ม.ค. นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. และนางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะรองโฆษก กทม. ร่วมแถลงชี้แจงทั้ง 3 กรณี โดยนายอมร กล่าวว่า กรณีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีของ กทม. ที่นายวิลาศระบุว่าติดเพียง 11,000 ตัว จาก 47,000 ตัวนั้น คงเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะในวันที่ 22 ต.ค.2558 นายวิลาศยื่นขอรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างทุกครั้งที่ กทม.จัดซื้อกล้องซีซีทีวีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ส่งให้แล้ว มีทั้งหมด 6 สัญญา จำนวน 11,000 ตัว ข้อเท็จจริงเรื่องการติดตั้งกล้องซีซีทีวีใน กทม. ผู้ว่าฯได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ขณะนี้ กทม.มีกล้องให้บริการประชาชนทั้งหมด 59,154 ตัว ใช้งานได้จริง 47,719 ตัว ที่เหลือหมื่นกว่าตัว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2559 ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีของ กทม.ทุกครั้ง ใช้วิธีการตามสำนักงบประมาณ และเป็นไปตามข้อบังคับของสำนักนายกฯทุกขั้นตอน สำหรับกรณีเกี่ยวกับการขยายสัญญาเดินรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ออกไปอีก 30 ปีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.
นายอมรกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องงบประมาณในการจัดงานกรุงเทพฯแสงสีแห่งความสุข จำนวน 39.5 ล้านบาทนั้น เป็นการใช้เงินงบประมาณจากงบกลางปี 2559 หรืองบการเงินสำรองจ่ายทั่วไป ภายใต้การตัดสินใจของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. จำนวนทั้งสิ้น 300 ล้านบาท สามารถเบิกนำเงินมาใช้ได้ตามหลัก 4 ข้อคือ 1.รายจ่ายที่มีความเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 2.รายจ่ายตามคำพิพากษาทางกฎหมาย เช่น ค่าสินไหมทดแทน ค่าปรับ 3.เป็นรายจ่ายเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ที่เคยมีการใช้จ่ายไปแล้ว อาทิ ค่าใช้จ่ายแรงงานต่างด้าวของรัฐบาล 4.รายจ่ายตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. จึงเข้าเงื่อนไขข้อ 4 เพื่อใช้จ่ายเงินมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนคน กทม. และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กรุงเทพฯได้รางวัลเมืองน่าท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์
นายอมรกล่าวอีกว่า ส่วนความคุ้มค่านั้น มีประชาชนราว 4 แสนคน เฉลี่ยใช้จ่ายประมาณ 100/คน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวรอบพื้นที่ลานคนเมือง และมีการอัพโหลดขึ้นโซเชียลมีเดียค่าเฉลี่ย 1 ภาพมูลค่า 20 บาท คาดว่ามีการอัพโหลดกว่า 1 ล้านภาพที่กระจายไปทั่วโลก ถือเป็นการจัดงานที่คุ้มค่า ทั้งนี้ ในวันที่เปิดประมูลมี 2 บริษัทเท่านั้น อาจเกิดจากข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (ทีโออาร์) ที่จำกัดเรื่องเวลา เพราะกำหนดประมูลให้เสร็จในวันที่ 17-18 ธ.ค. กทม.ต้องแจ้งกับบริษัทผู้ชนะให้เข้ามาดูสถานที่ จากนั้นต้องติดตั้งไฟให้แล้วในวันที่ 30 ธ.ค. เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทเอกชนเข้ามาติดตั้งก่อนวันลงนามสัญญาจ้างและหนึ่งในบริษัทที่ได้งานไป ตั้งงบที่น้อยกว่างบกลาง ยืนยันว่า ไม่มีการฮั้วประมูลแน่นอน ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก กทม. พิสูจน์ข้อกล่าวหาได้ จะดำเนินการตามข้อกฎหมายหรือไม่ นายอมรกล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม.สั่งให้ทีมงานศึกษาข้อกฎหมาย หลังจากนี้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้อีก อาจจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กล่าวหาทำให้ กทม.เสียหาย
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังทราบการแถลงของนายอมร ว่า ทั้ง 3 เรื่องที่ตนจะยื่น ป.ป.ช.กับ สตง.ให้ตรวจสอบในวันที่ 6 ม.ค.นี้ นายอมร ต้องรับผิดชอบทั้งหมดเพราะกรณีกล้องซีซีทีวี เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. ส่วนการติดตั้งไฟแอลอีดี ที่ลานคนเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สองหน่วยงานนี้นายอมรเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะรองผู้ว่า กทม. สำหรับการขยายสัญญาให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส ขณะทำสัญญา ก่อนที่นายอมรจะมาเป็นรองผู้ว่า กทม.นั้น นายอมรเองมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม ที่ กทม.ตั้งขึ้นให้มาดูแลรถไฟฟ้าบีทีเอส ดังนั้น นายอมรจะปัดความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้ที่ตนยื่นซ้ำเรื่องบีทีเอสเพราะต้องการให้จำเลยติดคุก ตนมีหลักฐานการขยายสัญญาเนื่องจากสัญญาเหลืออีก 17 ปี แต่กลับต่อสัญญาเพิ่มอีก 30 ปี โดยไม่มีการเสนอราคาและ รมว.มหาดไทยก็ไม่ได้รับรอง ยอมรับว่า คงเอาผิดไปไม่ถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้ เพราะได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯรับผิดชอบแล้ว
ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการประดับไฟแอลอีดีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ลานคนเมืองของ กทม.ว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการประกวดราคาว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงาน เพราะตรวจสอบพบว่า บริษัท คิวริโอ ทัวร์แอน แทรเวิล จำกัด ที่ชนะการประมูลได้เข้ามาทำงานก่อนการประกาศผลและก่อนการเซ็นสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นทางการ ทั้งยังพบว่าบริษัทนี้เคยจัดทำทัวร์เดินทางไปต่างประเทศให้ กทม.6 ปีติดต่อกัน และในเดือน ก.ย.58 ก็เพิ่งแจ้งขอประกอบธุรกิจตกแต่งไฟกับกรมทะเบียนการค้า เมื่อชนะการประมูลกลับว่าจ้างบริษัทรายอื่นเข้าดำเนินการแทน ขอตั้งข้อสังเกตว่า การใช้งบประมาณจำนวนมาก นอกจากต้องมีการวางแผนงานที่ดีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งบและควรเป็นงบที่ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ใช้งบประมาณกลางที่ผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้อนุมัติเพียงคนเดียว เพราะไม่ใช่โครงการฉุกเฉินแต่อย่างใด ซึ่งจะได้ทำหนังสือแจ้งให้ กทม.เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เข้าให้ถ้อยคำกับ สตง.อย่างเป็นทางการต่อไป
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด