ผู้สมัครงาน
หากนึกถึงสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคน คงนึกถึงความสวยงามของพระราชวัง ความหรูหราอลังการ พื้นที่กว้างขวาง ข้าราชบริพารมากมายคอยปรนนิบัติรับใช้
แต่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนจะเสด็จสู่สวรรคาลัย หรือ “บ้านของพ่อ” ช่างแตกต่างออกไป เพราะพื้นที่เกือบทั้งหมด ถูกดัดแปลงเป็นการทำเกษตรกรรมตามหลักคำสอน การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ที่พ่อพร่ำสอนอยู่เสมอ โดยใช้เป็นสถานที่ทดลอง ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทางด้านเกษตรกรรม นำไปแจกจ่ายสู่ประชาชนและให้ประชาชนได้มาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปปฏิบัติโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เป็นที่มาของ “โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตรสวนจิตรลดา” จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2505
จากวันนั้นจนวันนี้ พวกเราขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ผ่านโครงการจากในรั้วพระราชวังของพระองค์ อาทิ
เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อกำลังใจไทยทั้งชาติ
นาข้าวทดลอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของสวนจิตรลดาเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นสิ่งแรกที่ “พ่อ” ทรงทำเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควร และจากการการไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่เห็นว่าส่วนมากทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงริเริ่มทำนาข้าวทดลองขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 โดยทดลองนำข้าวสายพันธ์ต่างๆ มาทดลองปลูก ทั้งนาดำและนาหว่าน
จากนั้นพระองค์ก็ได้ทำการรื้อ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ห่างหายไปตั้งแต่ พ.ศ. 2479 และทำการปรับให้ทันยุคปัจจุบัน โดยใช้เมล็ดพันธุ์ในการทำพิธีจากนาข้าวทดลองของสวนจิตรลดา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรทั้งประเทศและ เมล็ดข้าวที่เหลือจากการทำพิธี พระองค์ทรงพระราชทานแจกจ่ายให้แก่ประชาชน
แหล่งโปรตีนของพ่อ สู่ปากท้องของชาวไทยทั้งประเทศ
พระองค์ทรงเห็นว่าประชาชนส่วนมากค่อนข้างยากจน เนื้อสัตว์ที่ราคาถูกที่ประชาชนจะสามารถหาได้ คือ ปลา จึงทรงทดลองเลี้ยงปลาหมอเทศ เพื่อทำการเพาะพันธุ์แจกจ่ายให้กับประชาชน กระทั่ง พ.ศ. 2508 เจ้าชายอากิฮิโต ถวายพันธุ์ปลา Tilapia Nilotica จำนวน 50 ตัวเพื่อนำมาทดลองเลี้ยง ซึ่งประทานนามว่า “ปลานิล”
ช่วงเดือนแรก ปลานิลที่ทรงเลี้ยงจาก 50 ตัว ตายไป 40 ตัว(จากคำบอกเล่า) พระองค์จึงนำปลาที่เหลือมาเลี้ยงที่วังจิตรลดา ทรงตรัสว่า “เราเลี้ยงมันเหมือนลูก จะให้เรากินมันลงได้อย่างไร” ด้วยความรักความเอาใจใส่ จาก 10 ตัว ภายใน 1 ปี กลับกลายเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า หมื่นตัว พระองค์ได้พระราชทานลูกปลานิลให้กรมประมง เพื่อทำการเพาะพันธุ์และแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป จึงมีคำพูดในปัจจุบันว่า “จาก 50 ตัว กลายเป็น 2 แสนตันต่อปี”
น้ำนมจากพ่อ สู่อาชีพของชาวไทย
พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จประพาสประเทศเดนมาร์คเพื่อศึกษาการเลี้ยงโคนม เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นอาชีพให้แก่เกษตรกรไทย พระองค์ได้ทำการทดลองเลี้ยงโคนม 6 ตัวด้วยพระองค์เอง เพื่อทำการปรับสายพันธุ์โคนมให้เหมาะสมกับอากาศของประเทศไทยและเป็นแนวทางการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรไทย
เนื่องจากเป็นอาชีพใหม่ในสมัยนั้น เกษตรกรจึงประสบปัญหาเกี่ยวกับการปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงโคนม พระองค์ก็ได้แก้ปัญหาโดยการสาธิตการปลูกหญ้า ให้กับเกษตรกร ปัจจุบัน โครงการทดลองของพ่อ ก็คือผลิตภัณฑ์โคนมทรงเลี้ยง “นมจิตรลดา” และ “นมผงอัดเม็ดสวนดุสิต”
บ้านของพ่อ ไม่ได้เป็นแค่ที่ประทับ แต่มี ความรัก ความเสียสละ ความห่วงใย ที่มีต่อลูกๆทุกคน
แม้ว่าพ่อจะไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่พ่อทำไว้ให้ลูกทุกคนยังคงอยู่ และลูกๆ ทุกคนขอสืบสานปณิธานความตั้งใจที่พ่อสอนให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่นมากที่สุด
ขอบคุณข้อมูล : www.kanchanapisek.or.th
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด